
อยู่ลึกเกือบ 2 กิโลเมตร อยู่ดี ๆ โผล่ขึ้นมาซะงั้น หรือว่าใต้ทะเลมันมีอะไร?
(13 ก.พ.68) สื่อต่างประเทศ รายงานว่า องค์กรวิจัยทางทะเลของสเปน สามารถจับภาพสัตว์ทะเลลึกที่หายาก อย่าง “แองเกลอร์ฟิช” หรือ “ปลาปีศาจดำ” ขณะกำลังลอยตัวเหนือน้ำตามเส้นแสงอาทิตย์ครั้งแรก ในหมู่เกาะคานารี ประเทศสเปน ก่อนที่ปลาตัวนี้จะเสียชีวิตลงในเวลาต่อมา

โดยทั่วไปแล้ว “แองเกลอร์ฟิช” หรือที่เรียกกันว่าปลาปีศาจทะเลดำ จะพบได้ในทะเลลึก ประมาณ 200- 2,000 เมตรจากผิวน้ำ ซึ่งเป็นจุดที่แสงแดดส่องไม่ถึง และมนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งการปรากฏตัวในครั้งนี้ สร้างความประหลาดใจให้กับผู้คนทั่วโลก

ขณะที่ นักวิทยาศาสตร์ยังคงถกเถียงกัน ถึงสาเหตุที่ปลาชนิดนี้ลอยโผล่ใกล้ผิวน้ำ ไกลจากแหล่งที่อยู่อาศัยปกติใต้ท้องทะเลลึก
โดยผู้เชี่ยวชาญบางคน กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพมหาสมุทรที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ อาจเป็นสาเหตุให้ปลาตัวนี้ลอยขึ้นมา เป็นที่ทราบกันดีว่าเอลนีโญส่งผลกระทบต่อกระแสน้ำในมหาสมุทร ซึ่งอาจบังคับให้สัตว์ทะเลลึก ต้องอพยพสู่แหล่งน้ำที่ตื้นกว่า

อย่างไรก็ตาม อาจเป็นไปได้ที่แองเกลอร์ฟิช อาจจะป่วยหรือหลบหนีจากนักล่า โดยนักชีววิทยาทางทะเล “ไลอา เวเรอร์” (Laia Valor) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะสำรวจ เผยถึงช่วงเวลาที่พบปลาชนิดนี้ว่า
“ขณะที่เรากำลังเดินทางกลับเข้าฝั่ง ฉันเห็นบางอย่างสีดำอยู่ในน้ำ มันไม่ได้มีลักษณะเหมือนพลาสติกหรือเศษขยะ แต่ดูผิดปกติ”

หลังจากที่แองเกลอร์ฟิชตัวนี้เสียชีวิตลง คณะสำรวจทางทะเลได้นำร่างของปลาดังกล่าว ไปที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติและโบราณคดีในเทเนริเฟ เพื่อทำการศึกษาเพิ่มเติม
สำหรับ “แองเกลอร์ฟิช” ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2406 โดยนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ เจมส์ เยตส์ จอห์นสัน ซึ่งพบครั้งแรกในพื้นที่ใกล้กับเกาะมาเดรา นอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา
ต่อมาผลการค้นพบของเจมส์ ได้รับการวิเคราะห์โดยนักสัตววิทยา “อัลเบิร์ต กุนเทอร์” จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติลอนดอน ซึ่งจัดให้ปลาชนิดนี้เป็นสกุลใหม่ เนื่องจากลักษณะทางกายภาพที่ผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการไม่มีครีบเชิงกราน และเหตุผลที่มันถูกเรียกว่าปลาปีศาจดำ เนื่องจากตัวของปลามีสีเข้ม พร้อมกับฟันที่แหลมคมน่ากลัว และรูปร่างที่ประหลาด
ขอบคุณข้อมูล : Tech Times และ NBC News
https://www.techtimes.com/articles/309365/20250213/rare-black-sea-devil-anglerfish-spotted-broad-daylight-near-spainfirst-ever-footage-captured.htm