น่าทึ่ง! นักวิจัยจีน ค้นพบ “ปลาผีหัวม้า” ปลาไทล์ฟิชสายพันธุ์ใหม่ในทะเลจีนใต้ 

แค่ชื่อก็ปังแล้ว! นักวิจัยจีน ค้นพบ “ปลาผีหัวม้า” ปลาไทล์ฟิชสายพันธุ์ใหม่ในทะเลจีนใต้ ก่อนตั้งชื่อใหม่ว่า “ปลาไทล์ฟิชโมโนโนเกะ” ชี้ หายาก แถมมีคุณค่าทางอาหารสูง

น่าทึ่ง! “ปลาไทล์ฟิช” สายพันธุ์ใหม่ ในทะเลจีนใต้  

วันนี้ (13 ก.พ.68) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า วานนี้ (12 ก.พ.68) วารสารอนุกรมวิธานนานาชาติซูคีส์ ได้เผยแพร่ผลการศึกษาที่ระบุว่าทีมนักวิจัยของจีนได้ค้นพบ ปลาสายพันธุ์ใหม่ในทะเลจีนใต้ และตั้งชื่อว่า “ปลาไทล์ฟิชโมโนโนเกะ” หรือแบรนคิโอสเตกัส ซาเนะ  

ขณะที่ ทีมนักวิจัยจากสถาบันสมุทรศาสตร์ทะเลจีนใต้ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง และมหาวิทยาลัยสมุทรศาสตร์แห่งประเทศจีน ได้ระบุการค้นพบปลาสายพันธุ์ใหม่บริเวณไหล่ทวีประหว่างเกาะไห่หนาน (ไหหลำ) และหมู่เกาะซีซา ณ ความลึกราว 200 เมตร 

“หวงฮ่าวเฉิน” ผู้เขียนผลการศึกษาคนแรก ระบุว่า ปลาสายพันธุ์ใหม่นี้มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับปลาไทล์ฟิชน้ำลึกสายพันธุ์อื่นๆ และแม้จะมีคุณค่าทางอาหารสูง แต่งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับปลากลุ่มนี้ค่อนข้างมีอยู่อย่างจำกัด โดยปลาสายพันธุ์ใหม่นี้ เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวประมงท้องถิ่นตามชายฝั่งทะเลจีนใต้ในชื่อ “ปลาผีหัวม้า” เนื่องจากลักษณะหัวที่โดดเด่น โดยนักวิจัยสามารถเก็บตัวอย่างของปลาชนิดนี้ได้ในปี 2023 ทำให้สามารถศึกษาได้อย่างละเอียด 

นอกจากนี้ “ปลาไทล์ฟิชโมโนโนเกะ” มีความแตกต่างทางสัณฐานวิทยาและพันธุกรรมจากปลาไทล์ฟิชสายพันธุ์อื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ โดย เฉินจิ่งเซวียน ผู้เขียนผลการศึกษาคนที่สอง เผยว่า ตัวอย่างทั้งหมดถูกเก็บจากน่านน้ำระหว่างอำเภอปกครองตนเองหลิงสุ่ย กลุ่มชาติพันธุ์หลี ในมณฑลไห่หนาน กับหมู่เกาะซีซา แต่เชื่อว่าถิ่นอาศัยของปลาสายพันธุ์ใหม่นี้อยู่บริเวณเนินลาดทางตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลจีนใต้  

ซึ่งการค้นพบนี้ ทำให้จำนวนสายพันธุ์ของปลาไทล์ฟิช ในน่านน้ำจีนเพิ่มขึ้นเป็น 6 สายพันธุ์ และเติบโตจนตัวยาวกว่า 40 เซนติเมตร 

ถือเป็นการค้นพบปลาขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่หายาก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับชีววิทยาและวิวัฒนาการของปลาสายพันธุ์ใหม่นี้จะมีส่วนส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการประมงที่ยั่งยืน