
เป็นอีกหนึ่งอุทาหรณ์จากการเสริมความงาม..
วานนี้ (25 มี.ค. 68) สื่อต่างประเทศ รายงานว่า หญิงชาวจีนรายหนึ่งจากมณฑลเจียงซี ได้ลงทุนควักเงินเงินเกือบ 2.4 ล้านหยวน (ราว 11 ล้านบาท) เพื่อเข้ารับการเสริมหน้าอก ด้วยเทคนิคที่อ้างว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ ก่อนพบว่ามีดีเอ็นเอของวัวและกวางมูส ปะปนอยู่ในร่างกาย จนทำให้เธอได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงถึงขั้นพิการ

โดยเหตุการณ์ดังกล่าว เริ่มขึ้นในปี 2017 เมื่อ หลิงหลิง หญิงสาวจากมณฑลเจียงซี ได้รับคำแนะนำจากเจ้าของร้านเสริมความงามท้องถิ่น เกี่ยวกับเทคนิคศัลยกรรมเสริมหน้าอกที่เรียกว่า “การปลูกถ่ายคอลลาเจนจากตัวเอง” โดยอ้างว่าเป็นวิธีที่ปลอดภัยและไม่มีผลข้างเคียง
ต่อมา เธอได้เดินทางไปยังคลินิก Beijing Creating Medical Cosmetic Clinic ในกรุงปักกิ่ง และพบกับศัลยแพทย์ ไป่ จิ้น (Bai Jin) ซึ่งได้รับการพูดถึงว่าเป็นหัตถการที่ง่ายและปลอดภัย อย่างไรก็ตาม หลังจากการผ่าตัด หลิงหลิงเริ่มรู้สึกปวดและรู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในหน้าอกของเธอ
ซึ่งในตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา เธอต้องเข้ารับการผ่าตัดซ้ำถึง 9 ครั้ง รวมถึงการใส่และแก้ไขรากเทียม (Implant) โดยในปี 2023 หน้าอกของเธอเกิดการรั่วซึมและผิดรูปจนถึงขั้นมีก้อนเนื้อ 2 ก้อนไหลลงมาถึงท้อง และเมื่อเธอติดต่อคลินิกเพื่อขอผ่าตัดแก้ไข ทางคลินิกกลับร้องขอให้เธอจัดทำรายงานทางการแพทย์ก่อน
จากนั้นในเดือนตุลาคม 2024 หลิงหลิง เข้ารับการผ่าตัดเอาสารแปลกปลอมออกที่โรงพยาบาลในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งแพทย์พบว่า สารที่ถูกฉีดเข้าไป ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงต่อร่างกาย

จากการตรวจสอบ พบดีเอ็นเอของวัวและกวางมูสในรากเทียม ซึ่งขัดแย้งกับคำกล่าวอ้างของคลินิกที่ว่าเป็น “คอลลาเจนจากร่างกายของตัวเอง”
โดยผู้เชี่ยวชาญด้านความงามในอุตสาหกรรมจากมณฑลเจียงซี เปิดเผยว่า นอกจากเคสดังกล่าวแล้ว ยังมีผู้ป่วยรายอื่นที่เคยใช้บริการของคลินิกนี้ และถูกตรวจพบดีเอ็นเอจากอูฐ ค้างคาว และกอริลลา
“สารที่มาจากสัตว์ที่ไม่ใช่มนุษย์สามารถก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันต่อต้าน ส่งผลเสียต่อร่างกาย” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว

อย่างไรก็ตาม หลิงหลิงได้พยายามจะเรียกร้องค่าชดเชย หลังจากเธอได้รับผลกระทบทางร่างกายและจิตใจ แต่ต้องพบว่าทั้งคลินิก และร้านเสริมความงามที่แนะนำ ได้ปิดกิจการไปแล้ว
โดยคลินิก Beijing Creating Medical Cosmetic Clinic ที่หลิงหลิงใช้บริการ ได้ถูกเพิกถอนใบอนุญาต และมีคดีฟ้องร้องเกี่ยวกับการทำศัลยกรรมผิดพลาดถึง 398 คดี นอกจากนี้ ไป่ จิ้น ศัลยแพทย์ที่ทำศัลยกรรมให้เธอ ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแพทย์
และล่าสุด (1 มี.ค. 68) หลิงหลิง ได้รายงานเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการสุขภาพเทศบาลปักกิ่ง แต่เนื่องจากสถาบันทั้ง 2 แห่งปิดตัวลง การต่อสู้ทางกฎหมายของเธอเพื่อแสวงหาความยุติธรรมจึงพบกับอุปสรรค
อุทาหรณ์นี้อาจเตือนให้ใครหลายคน ตรวจเช็กคุณภาพของสถานบริการก่อนใช้บริการ เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง
ขอบคุณข้อมูล : South China Morning Post