
(11 ม.ค.68) สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ชาวจีน ได้ค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์ 2 แห่งในเขตปกครองตนเองซีจาง (ทิเบต) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยหนึ่งในนั้นคือ “รอยเท้าซอโรพอด” (Sauropod) ฟอสซิลที่เล็กที่สุดในโลก ซึ่งมีอายุกว่า 166 ล้านปี

ซึ่งรอยเท้าดังกล่าว ถูกพบในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองกัมโด ประเทศจีน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2023 โดยทีมนักธรณีวิทยาได้ค้นพบรอยเท้าคล้ายสัตว์เลื้อยคลานทั้ง 2 ข้างถนนในหมู่บ้าน พวกเขาได้ร่วมมือกับนักบรรพชีวินวิทยาในการวิเคราะห์ และระบุรอยเท้าที่ทิ้งไว้โดยไดโนเสาร์ซอโรพอดและเทอโรพอด จากยุคจูราสสิกตอนกลาง
จากการศึกษา พบว่ามีรอยเท้าของเทอโรพอดขนาดใหญ่ 3 รอยติดต่อกัน ซึ่งแต่ละรอยมีความยาวประมาณ 42 เซนติเมตร รอยเท้าเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่ม “ยูบรอนทีส” และไม่พบในบันทึกไดโนเสาร์จูราสสิกของซีจาง รอยเท้าเหล่านี้บ่งชี้ว่าไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดกลางซึ่งอาจมีความยาวได้ถึง 6 เมตร เคยเดินผ่านในบริเวณนี้

ขณะที่ไซต์ที่สอง พบรอยเท้าซอโรพอดขนาดเล็กที่แยกกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 8.8 ถึง 15.5 เซนติเมตร ซึ่งน่าจะมีไดโนเสาร์มากกว่า 6 ตัวที่มีความยาวลำตัวสูงสุดถึง 2 เมตร ทิ้งร่องรอยไว้

ซิง ลี่ต้า รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยธรณีวิทยาจีน กล่าว “รอยเท้าซอโรพอดขนาดเล็กเช่นนี้หาได้ยาก” ซึ่งเขาได้ตั้งข้อสังเกตว่าในการวิจัยก่อนหน้านี้ ที่พบรอยเท้าซอโรพอดขนาด 12.2 เซนติเมตรในสาธารณรัฐเกาหลี และพบรอยเท้าขนาด 11.5 ถึง 13 เซนติเมตรในมองโกเลียในทางตอนเหนือของจีน
“การค้นพบครั้งนี้ ทำให้เราเข้าใจขนาดรอยเท้าของซอโรพอดในพื้นที่กัมโดมากขึ้น ซึ่งการค้นพบนี้ ชี้ให้เห็นว่าอาจมีซอโรพอดขนาดเล็กกว่าในภูมิภาคนี้ หรือสัตว์ที่น่าทึ่งเหล่านี้มีช่วงอายุที่แตกต่างกัน และมีพัฒนาการที่ดีตั้งแต่แรกเกิด”
“ซึ่งซอโรพอดที่โตเต็มวัย อาจมีความยาวได้ถึง 20 ถึง 30 เมตร แต่ลูกซอโรพอดที่เพิ่งฟักออกจากไข่จะมีความยาวน้อยกว่าครึ่งเมตร ความแตกต่างดังกล่าวทำให้มีรูปแบบการเคลื่อนไหวและแหล่งอาหารที่แตกต่างกันสำหรับกลุ่มอายุต่างๆ ส่งผลให้ซอโรพอดหลายสายพันธุ์สร้างชุมชนแยกจากกันตามอายุ”
ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ซอโรพอด (30 มี.ค.67) ที่บริเวณประตูตีหมา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีอายุกว่า 130 ล้านปี

ขอบคุณข้อมูล : Xinhua
https://english.news.cn/20250111/1cc63fe4f79d4ee6968ae41ed2cf44fc/c.html