เที่ยวช่องเขาขาด ตามรอยเส้นทางรถไฟสายมรณะ กาญจนบุรี

อีจันพาปักหมุด พิกัดตามรอยประวัติศาสตร์ เส้นทางรถไฟสายมรณะ ช่องเขาขาด กาญจนบุรี “ศูนย์ประวัติศาสตร์ช่องเขาขาด”

ช่องเขาขาด ตามรอยเส้นทางรถไฟสายมรณะ

ฮัลโหลลลลูกเพจ ตอนนี้ จันอยู่ที่ กาญจนบุรี ค่า

ซึ่งเรามาภารกิจบุญ กับ โครงการสร้างพระ 4 ทิศ ที่นำโดย พี่สอง หรือ คุณสมพันธ์ จารุมิลินท รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด และกรรมการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท พร้อมด้วย พร้อมด้วย พลเอก ศักดา แสงสนิท กรรมการมูลนิธิเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ และภาคีเครือข่าย

แต่ก่อนที่จะอิ่มบุญกันถ้วนหน้า มาถึงกาญจนบุรีทั้งที ต้องไม่พลาดสถานที่ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ เพราะนอกจากธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ น้ำตกที่สวยงาม และแม่น้ำแควสายยาว อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนนึกถึงไม่แพ้กันก็คือ “พิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด กาญจนบุรี” ศูนย์ประวัติศาสตร์แห่งช่องเขาขาด ที่รวมเรื่องราวความเป็นมาของ เส้นทางรถไฟสายมรณะ เอาไว้อย่างเจาะลึก บอกเลยค่ะ ใครที่หลงใหลเรื่องประวัติศาสตร์ต้องไม่พลาดที่นี่เลยล่ะ

พอเรามาถึง พิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด พี่ๆ ก็พาแนะนำข้อมูล เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง ร่องรอยของประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อครั้งที่ชาวญี่ปุ่นใช้ทหารเชลยศึกชาวออสเตรและเชลยศึกฝ่ายพันธมิตรมาก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายไทย – พม่า หรือที่เราเรียกกันในชื่อ รถไฟสายมรณะ หรือ สะพานนรก ค่ะ

ที่นี่ เป็นเส้นทางรถไฟที่ถูกสร้างขึ้นโดยต้องแลกกับชีวิตของเหล่าเชลยศึกมากมาย พวกเขาต้องจากไปเพราะการทำงานหนัก ความอดยาก และโรคภัยไข้เจ็บ

มาถึงที่นี่ ต้องดูอะไรบ้าง?

อันดับแรก มาถึงปุ๊บ ก็เดินไปในส่วนของพิพิธภัณฑ์ค่ะ

ด้านในจัดแสดงนิทรรศการภายในอาคาร ในส่วนนี้ จะพาทุกคนย้อนอดีตไปยังยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อได้อ่าน ได้ดูภาพต่างๆ จะทำให้เรานั้นเข้าใจเรื่องราวความเป็นมาของเส้นทางรถไฟสายมรณะอย่างลึกซึ้งมากๆ แล้วก็ยังมีข้าวของเครื่องใช้ของเชลยศึก ในสมัยที่เทคโนโลยียังไม่ได้พัฒนา เช่น ค้อน พลั่ว สิ่ว สว่าน จอบ ค้อน และบุ๋งกี๋

แล้วก็ยังมีห้องจำลองความเป็นอยู่ของเชลยศึกด้วยนะ ภายในห้องจำลอง มีอาหารของเหล่าเชลยศึก ที่มีเพียงแค่ข้าวกองเล็กๆ แต่ส่วนที่น่าเศร้าที่สุดที่เราเห็นก็คือ จดหมายที่อนุญาตให้เชลยส่งไปยังญาติพี่น้อง และให้กรอกเพียงแค่ว่า “ยังมีชีวิตอยู่” มันจุกอกอย่างบอกไม่ถูกเลย

ซึ่งอนุสรณ์สถานแห่งนี้สร้างขึ้นโดย นายเจ จี ทอม มอร์ริส ชาวออสเตรเลีย หนึ่งในเชลยศึกที่ทำงานสร้างรางรถไฟแห่งนี้ เมื่อหลังจากสงครามสงบ เขาจึงกลับมาและสร้างอนุสรณ์สถานช่องเขาขาดขึ้น โดยมีรัฐบาลออสเตรเลียเป็นผู้ระดมทุนในการรับบริจาคเพื่อสร้างขึ้นนั่นเองค่ะ

ชมนิทรรศการด้านในเสร็จแล้ว ลงมาด้านล่าง ครั้งแรกที่ได้ลงไปเดินในสถานที่จริงนั้น บอกได้ว่ามีบรรยากาศที่ชวนให้เศร้าโศกอยู่ไม่น้อยเลยค่ะ เพราะยังมีรางรถไฟเก่าที่ยังคงเหลืออยู่ให้เห็นเพียงเล็กน้อย ชวนให้นึกถึงภาพเชลยศึกนับหมื่นคน ที่ทำงานสร้างทางรถไฟที่นี่ด้วยความทุกข์เข็ญแสนสาหัส

ตามทาง มีธงที่นักท่องเที่ยว เอามาวางไว้เพื่อแสดงความไว้อาลัยแก่เชลยศึก

ว่ากันว่า ชีวิตทหารเชลยศึกเหล่านั้นล้มตายกันเป็นเบือ เพราะทำงานหนักและโรคภัยไข้เจ็บที่ชุกชุม เส้นทางรถไฟสายนี้จึงถูกเปรียบเปรยว่าเป็นเส้นทางที่ต้องใช้ หนึ่งไม้หมอนต่อหนึ่งชีวิต ”A life for every sleeper“

เราขอเก็บภาพบรรยากาศมาให้ชมค่ะ

สำหรับใครที่อยากมาเที่ยว ที่นี่เปิดทุกวัน จันทร์ – อาทิตย์ ตั้งแต่ 9.00 น. -16.00 น. ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมค่ะ