
ฮาโลวีน ลูกเพจอีจันแต่งเป็นผีอะไรกันบ้างคะ น่ากลัวแค่ไหนส่งรูปมาอวดหน่อยยยย
ส่วนจัน จะพาลูกเพจไปชมความงามปนสยองส่งท้ายก่อนหมดคืนฮาโลวีนนี้ค่ะ
NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยภาพ 5 วัตถุในห้วงอวกาศลึก ที่มองเผินๆ ก็นับว่าเป็นสิ่งแปลกตาที่สวยงามมาก แต่หากมองดีๆ อีกมุม อาจเห็นถึง ความสยองที่ปนในความสวยของมัน จะด้วยมิติของภาพ หรือใดๆก็แล้วแต่ ลูกเพจลองดูกันค่ะ สรุป สวย หรือ สยองงงงง

“เนบิวลาผี” (Ghost Nebula) หรือ IC 63 จาก กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล เป็นทั้งเนบิวลาสะท้อนแสงและเนบิวลาเปล่งแสงใน กลุ่มดาวแคสซิโอเปีย (Cassiopeia) ห่างจากโลกประมาณ 550 ปีแสง พื้นที่เปล่งแสงสีแดงเกิดจากกลุ่มแก๊สไฮโดรเจนที่ดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลตจากดาวยักษ์น้ำเงินที่ชื่อว่า Gamma Cassiopeiae ที่อยู่ภายในเนบิวลา แล้วปลดปล่อยแสงสีแดงออกมา ส่วนสีน้ำเงินเกิดจากการสะท้อนแสงของกลุ่มฝุ่น เกิดเป็นลักษณะของกลุ่มแก๊สและเมฆฝุ่นคล้ายผ้าคลุม หรือวิญญาณที่น่าขนลุก ทำให้ IC 63 ได้ชื่อว่าเป็น “ปิศาจแห่งแคสซิโอเปีย”

“เนบิวลาหัวแม่มด” (Witch Head Nebula) หรือ IC2118 เป็นเนบิวลาชนิดสะท้อนแสงที่อยู่บริเวณกลุ่มดาวนายพราน (Orion) ห่างออกไปจากโลกประมาณ 900 ปีแสง เนบิลาประเภทนี้เป็นกลุ่มฝุ่นและแก๊สที่ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง แต่เกิดจากแสงของดาวฤกษ์ใกล้เคียงที่กระทบกับฝุ่นและแก๊สเหล่านี้ แล้วเกิดการสะท้อนแสงและการกระเจิงแสง ซึ่งแสงสีฟ้าคือแสงที่เกิดการกระเจิงแสงได้ดีที่สุด (หลักการเดียวกันกับท้องฟ้าบนโลกที่เป็นสีฟ้าในเวลากลางวัน) เนบิวลาประเภทนี้จึงมักเป็นสีฟ้า และสำหรับเนบิวลานี้ที่มีรูปร่างหน้าตาเป็นใบหน้าคนที่มีคางยื่นยาวและมีจมูกโค้งงอ คล้ายกับใบหน้าของแม่มดในการ์ตูน จึงเป็นที่มาของชื่อ “เนบิวลาหัวแม่มด”

“เนบิวลาศีรษะผี” (Ghost Head Nebula) หรือ NGC 2080 จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล เป็นกลุ่มฝุ่นและแก๊สที่หนาแน่นอยู่ภายในเมฆแมกเจลแลนใหญ่ (Large Magellanic Cloud) อยู่ห่างออกไปจากโลกประมาณ 160,000 ปีแสง มีการก่อกำเนิดดาวฤกษ์ดวงใหม่มากมายภายในบริเวณนี้ กลุ่มฝุ่นและแก๊สเหล่านี้กระจายตัวในอวกาศเป็นระยะทางกว่า 50 ปีแสง บริเวณกลางภาพมีกลุ่มแก๊สที่ส่องสว่าง 2 กลุ่มเป็นบริเวณที่มีความร้อยสูงมาก เนื่องจากได้รับรังสีพลังงานสูงจากดาวฤกษ์ยักษ์ที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน กลายเป็นลักษณะปรากฏที่ชวนให้จินตาการถึงใบหน้าของใครบางคน ที่กำลังแสยะยิ้มอยู่ในอวกาศอันมืดมิด เป็นที่มาของชื่อ “เนบิวลาศีรษะผี”

“เนบิวลาแจ็คโอแลนเทิร์น” (Jack-o’-lantern Nebula) จาก กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer Space Telescope) ในช่วงคลื่นอินฟราเรด เผยภาพกลุ่มแก๊สและเมฆฝุ่นลักษณะคล้ายตะเกียงฟักทองแจ็คโอแลนเทิร์น เกิดจากดาวฤกษ์ที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 15-20 เท่าที่อยู่ภายใน แผ่รังสีพลังงานสูงออกมา พัดพากลุ่มฝุ่นและแก๊สจนแยกออกเป็นโพรงที่มีรูปร่างตามภาพประกอบ
ภาพนี้เกิดจากข้อมูลภาพถ่ายในย่านอินฟราเรด 3 ช่วงความยาวคลื่น นำมาประมวลผลเป็นภาพหลากสีนี้ สีเขียวและสีแดงแสดงถึงเมฆฝุ่นที่มีอุณหภูมิต่างกัน สีน้ำเงินแสดงถึงดาวฤกษ์เกิดใหม่และเมฆฝุ่นร้อนภายในเนบิวลา เมื่อนำภาพทั้งสามมารวมกัน สีแดงจากฝุ่นจะปรากฏเด่นชัดที่สุด ส่วนพื้นที่เป็นสีขาวจะแสดงถึงวัตถุอวกาศที่สว่างในทั้งสามช่วงคลื่น

“เนบิวลาทารันทูลา” (Tarantula Nebula) หรือ 30 Dorarus จาก กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ ในย่านรังสีอินฟราเรด เป็นกลุ่มฝุ่นและแก๊สขนาดใหญ่ในอวกาศ และเป็นแหล่งก่อกำเนิดของดาวฤกษ์นับหมื่นดวง อยู่ภายในเมฆแมกเจลแลนใหญ่ (Large Magellanic Cloud) บริเวณใจกลางของเนบิวลานี้มีกระจุกดาวเกิดใหม่ที่มีมวลรวมกันประมาณ 500,000 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ และปล่อยพลังงานออกมามหาศาล กลุ่มฝุ่นและแก๊สกระจายตัวเป็นเส้นใยอันยุ่งเหยิงล้อมรอบโพรงอวกาศที่ใจกลาง คล้ายกับรังของแมงมุมทารันทูลา เป็นที่มาของชื่อ “เนบิวลาทารันทูลา” นั่นเอง
นักดาราศาสตร์สนใจเนบิวลาแห่งนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากมีองค์ประกอบทางเคมีที่ใกล้เคียงกับองค์ประกอบของเอกภพ ในยุคที่เอกภพมีอายุเพียงไม่กี่พันล้านปี (ปัจจุบันเอกภพมีอายุประมาณ 13,800 ล้านปี) ดังนั้น การศึกษาการก่อตัวของดาวฤกษ์ในเนบิวลาแห่งนี้ จะช่วยทำความเข้าใจถึงสภาพในอดีตของเอกภพ และการก่อตัวของดาวฤกษ์ในยุคแรกเริ่มด้วย
ส่องครบ 5 ภาพ สำหรับจันมันราวกับปรากฏการณ์อันน่าทึ่ง ที่ไม่ได้เกิดจากฝีมือมนุษย์ทำให้เป็น ยิ่งมองยิ่งดูลึกลับ แล้วลูกเพจล่ะคะเห็นเป็นยังไงบ้าง
ส่องครบ 5 ภาพ สำหรับจันมันราวกับปรากฏการณ์อันน่าทึ่งที่ไม่ได้เกิดจากฝีมือมนุษย์ทำให้เป็น ยิ่งมองยิ่งดูลึกลับ แล้วลูกเพจล่ะคะเห็นเป็นยังไงบ้าง
อ่านเอกสารอ้างอิงเพิ่ม
อ้างอิงภาพที่1
https://www.nasa.gov/image-feature/goddard/2018/hubble-captures-the-ghost-of-cassiopeia
อ้างอิงภาพที่2
https://www.nasa.gov/multimedia/imagegallery/image_feature_1209.html
อ้างอิงภาพที่3
https://photojournal.jpl.nasa.gov/catalog/PIA04226
อ้างอิงภาพที่4
https://www.jpl.nasa.gov/images/pia23403-the-jack-o-lantern-nebula
อ้างอิงภาพที่5
[1] https://www.nasa.gov/feature/goddard/2022/a-cosmic-tarantula-caught-by-nasa-s-webb
[2] https://webbtelescope.org/contents/media/images/2022/041/01GA76MYFN0FMKNRHGCAGGYCVQ?news=true
ขอบคุณข้อมูลจาก: สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ