ถือศีลอด รอมฎอน นี้ ยังไงให้ร่างกายสมดุล : Wellness for Ramadan

Wellness for Ramadan แนะวิธี ถือศีลอด ในเดือนรอมฎอน อย่างมีประสิทธิภาพ

ใกล้เดือน รอมฎอนของชาวมุสลิม แล้ว ทาง บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก (BDMS Wellness Clinic) คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน นำโดย นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก และ บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ได้จัดงาน “Wellness for Ramadan: ศาสตร์แห่ง Wellness กับรอมฎอน ความสมดุลแห่งศรัทธาและสุขภาพ” เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านการดูแลสุขภาพและเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับชาวมุสลิมตลอดเดือนรอมฎอน

โดยได้รับเกียรติจาก นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา นายอรุณ บุญชม หรือมุฮัมมัดญะลาลุดดีน บิน ฮูเซ็น จุฬาราชมนตรีท่านที่ 19 แห่งราชอาณาจักรไทย และแพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ให้เกียรติเข้าร่วมงาน

แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการบริหาร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหารอาวุโส กลุ่ม 1 บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

“BDMS Wellness Clinic ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสุขภาวะที่ดีสำหรับเพื่อน ๆ ชาวมุสลิมในช่วงเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์นี้ ดังนั้น เราจึงได้จัดงานเสวนา ‘Wellness for Ramadan’ ขึ้น เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ ศาสตร์แห่ง Wellness ครอบคลุมการดูแลสุขภาพในทุกมิติ ทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ซึ่งล้วนมีบทบาทสำคัญในการรักษาความสมดุลแห่งสุขภาพและความสุขในช่วงเดือนรอมฎอน เพื่อให้ทุกคนสามารถมีสุขภาพที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจในช่วงเวลานี้”

นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ หรือคุณหมอแอมป์ ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก และ บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

“การถือศีลอดในช่วงรอมฎอนไม่เพียงเป็นศาสนกิจที่สำคัญของชาวมุสลิมทั่วโลก แต่หากพูดในเชิงการแพทย์ การถือศีลอดยังมีความสอดคล้องกับแนวทางการดูแลสุขภาพที่ได้รับความนิยมอย่าง Intermittent Fasting (IF) ซึ่งเป็นรูปแบบการรับประทานอาหารที่จำกัดเวลาในการรับประทานอาหาร ช่วยส่งเสริมวินัยด้านการรับประทานอาหารให้กับเราทุกคนให้รับประทานอาหารได้อย่างเป็นเวลามากขึ้น โดยนอกจากช่วยลดการรับประทานอาหารจุกจิกเกินความจำเป็นแล้ว ยังส่งผลดีต่อร่างกายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยลดความดันโลหิต ช่วยลดระดับไขมันในเลือด ช่วยในการลดน้ำหนัก ช่วยในการลดการอักเสบในร่างกาย และส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของอินซูลิน

การสร้างสมดุลระหว่างการอดอาหารและการรับประทานอาหาร เป็นสิ่งสำคัญที่ชาวมุสลิมทุกท่านควรให้ความสำคัญในระหว่างถือศีลอด เพื่อให้ร่างกายยังคงแข็งแรง และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข”

นายแพทย์ตนุพล ได้แบ่งปันถึงคำแนะนำในการรับประทานอาหารในช่วง ซูโฮร์ (Suhoor) และ อิฟตาร์ (Iftar) ภายใต้ศาสตร์แห่ง Wellness ไว้ดังนี้

ซูโฮร์ คือมื้ออาหารที่ชาวมุสลิมรับประทานในระหว่างก่อนพระอาทิตย์ขึ้น หรือตอนช่วงเวลา 4:00 – 4:30 น. ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของวัน เนื่องจากเป็นมื้ออาหารมื้อแรกก่อนที่ชาวมุสลิมจะไปใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมตลอดทั้งวัน

การรับประทานอาหารในมื้อซูโฮร์จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม และเพื่อให้ร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ชาวมุสลิมที่กำลังถือศีลอด ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

  • เลือกรับประทานอาหารที่ให้พลังงานอย่างช้าๆ และต่อเนื่อง เช่น คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน โปรตีน และไขมันดี เป็นแหล่งอาหารที่ให้พลังงานอย่างช้าๆ เพื่อให้ร่างกายมีพลังงานเพียงพอ สำหรับทำกิจกรรมได้อย่างราบรื่นตลอดทั้งวัน
  • รับประทานอาหารอย่างสมดุล ใช้หลักการ แบ่งจานอาหารเป็น 4 ส่วน โดย 50% เป็นผักหลากหลายชนิด อีก 25 % เป็นโปรตีนที่ดี เช่น ปลา ถั่วและธัญพืช ส่วนที่เหลืออีก 25 % เป็นข้าวแป้งไม่ขัดสี อย่างเช่น ข้าวกล้อง เพื่อช่วยให้รู้สึกอิ่มนาน และช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในระหว่างถือศีลอด
  • รับประทานอาหาร Plant-based เป็นหลัก เน้นการรับประทานผักผลไม้และธัญพืชหลากหลายชนิด ในพืชต่างๆ อุดมไปด้วยวิตามินแร่ธาตุและสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยส่งเสริมระบบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรงมากขึ้น
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ เนื่องจากในระหว่างวัน ชาวมุสลิมจะต้องงดรับประทานอาหารและดื่มน้ำ การดื่มน้ำให้เพียงพอในช่วงซูโฮร์ จึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ เพื่อให้ร่างกายไม่ต้องเผชิญกับภาวะขาดน้ำในระหว่างวัน
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เนื่องจากคาเฟอีนเป็นสารที่กระตุ้นการขับน้ำออกจากร่างกาย การหลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีนในช่วงรอมฎอน จึงช่วยให้ร่างกายห่างไกลจากภาวะขาดน้ำได้มากยิ่งขึ้น

อิฟตาร์ คือ มื้ออาหารที่ชาวมุสลิมรับประทานเพื่อละศีลอด หลังจากพระอาทิตย์ตกดินในช่วงเดือนรอมฎอน โดยจะเป็นช่วงที่ชาวมุสลิมได้เติมเต็มสารอาหารให้ร่างกาย ทำให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูจากการอดอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การรับประทานอาหารในช่วงอิฟตาร์อย่างสมดุล ไม่เพียงช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังส่งเสริมสุขภาพที่ดีในระยะยาว โดยมีคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมากเกินความจำเป็น ในช่วงระหว่างการถือศีลอด หลายท่านอาจรู้สึกหิวมาก เนื่องจากงดอาหารมาตลอดทั้งวัน ส่งผลให้เกิดการรับประทานอาหารมากเกินความต้องการของร่างกาย ดังนั้น เพื่อสร้างสมดุลให้กับร่างกาย เราทุกคนจึงควรรับประทานอาหารแต่พอดี โดยเริ่มมื้ออาหารด้วยการรับประทานอาหารเบา ๆ อย่างเช่น ซุป หรือ อินทผาลัม เป็นต้น
  • จำกัดการรับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต เนื่องจากการรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนก่อให้เกิดอันตรายต่อภาวะสุขภาพได้ นอกจากนี้ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงยังรบกวนการนอนหลับ จึงอาจทำให้เกิดการพักผ่อนไม่เพียงพอได้เช่นเดียวกัน
  • เลือกรับประทานอาหารจำพวก อบ หรือต้ม แทนอาหารจำพวกทอด อาหารไขมันต่ำช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร ป้องกันอาการท้องอืดและภาวะกรดไหลย้อน
  • รับประทานอาหารอย่างช้า ๆ ค่อย ๆ เคี้ยวอย่างละเอียด เพื่อไม่ให้ระบบย่อยอาหารทำงานหนักจนเกินไป มีเวลาในการย่อยและดูดซึมอาหารได้ดีขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการนอนทันทีหลังมื้ออาหาร ควรเว้นระยะประมาณ 3 ชั่วโมงจากมื้ออาหารก่อนที่จะเข้านอน
  • เดินหลังจากรับประทานอาหาร จะช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร ทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น และยังช่วยส่งเสริมคุณภาพการนอนหลับให้ดีขึ้นได้

นายแพทย์ตนุพล ทิ้งท้ายไว้ว่า

งานเสวนา Wellness for Ramadan จัดขึ้นด้วยความตั้งใจที่จะส่งเสริมสุขภาวะที่ดีให้กับพี่น้องชาวมุสลิมในช่วงเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ เราให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ภายใต้ศาสตร์แห่ง Wellness

ที่ช่วยให้ทุกท่านสามารถรักษาสมดุลของสุขภาพ พร้อมเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย ในระหว่างการถือศีลอด หวังว่างานเสวนานี้จะเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนที่ช่วยให้ทุกท่านมีสุขภาพที่ดีและสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างสมบูรณ์ตลอดเดือนรอมฎอน