
ตีลังกาเล่าข่าว โดย “กรรณะ”
เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาสถานการณ์การเมืองร้อนระอุในเวทีสภาในวาระที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ต้องบอกว่าเรื่องนี้มีตัวละครหลักๆอยู่ 4 ตัว ประกอบด้วย 1.พรรคเพื่อไทย 2.พรรคประชาชน 3.พรรคภูมิใจไทย และ 4.สว. ที่ว่ากันว่าเป็น สว. “สีน้ำเงิน” ที่เห็นทางเดียวกับพรรคภูมิใจไทย

เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปสมัยหาเสียงเลือกตั้ง ที่แต่ละพรรคโดยเฉพาะทั้ง 3 พรรคที่เป็นตัวละครในเรื่องนี้ต่างก็หาเสียงด้วยการบอกว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพื่อทำ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ที่ไม่ได้มีกำเนิดมาจากการรัฐประหาร
พรรค “ประชาชน” และ “เพื่อไทย” ที่เป็นพรรคอันดับหนึ่งอันดับสองจากการเลือกตั้งยืนยันในการหาเสียงชัดว่าต้องมีการจัดทำรัฐธรร มนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ขณะที่ “ภูมิใจไทย” เองก็เคยหาเสียงสนับสนุน แต่มีเงื่อนไขว่าต้องไม่แตะต้องหมวด 1 และ หมวด 2 ซึ่งก็คือบททั่วไปและหมวดของพระมหากษัตริย์
การประชุมร่วมรัฐสภาครั้งนี้ ต้องบอกว่ายังไม่ได้เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่เป็นญัตติเมื่อเสนอแก้ มาตรา 256 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะมีการแก้ให้สามารถยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาได้
ที่ต้องแก้มาตรานี้เนื่องจาก ในรัฐธรรมนูญไม่มีบทบัญญัติเรื่องการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งการกระทำนี้เป็นเส้นทางเดินเดียวกับสมัย “นายกฯบรรหาร ศิลปอาชา” เคยแก้ “มาตรา 211” ของ รัฐธรรมนูญฉบับ 2534 และเป็นที่มาของการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540
แต่ต้องบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เป็นฉบับที่มีเงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญยากกว่าที่ผ่านๆมาแบบมหาศาล โดยเงื่อนไขที่ต้องจดและจำเอาไว้ให้ขึ้นใจ คือ
1.ใช้เฉพาะเสียงของ สส. ไม่ได้ แต่ต้องใช้เสียง สว. เห็นชอบด้วยอย่างน้อย 1 ใน 3 แปลง่ายๆ ว่า ต่อให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของ 2 สภา หรือ เกิน 350 เสียง แต่เสียงในนั้นเป็นเสียง สว. ไม่ถึง 67 เสียง การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะไม่สำเร็จ
2. หากการแก้เป็นการแก้ หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาลหรือองค์กรอิสระหรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้ก่อนดําเนินการลงมติในที่ประชุมรัฐสภา ต้องทำประชามติเสียก่อน หากไม่ผ่านก็ตกไป
และ 3. ต้องผ่านการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าไม่ใช่การเปลี่ยนรูปแบบรัฐ หรือไม่และต้องทำประชามติหรือไม่

มาถึงตอนนี้ทุกคนคงเห็นคร่าวๆ แล้วว่าทำไม สว. ถึงมีบทบาทในเกมนี้มาก และบทบาทที่ว่าเป็นบทบาทที่สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของพรรคภูมิใจไทย
เมื่อถึงคราวที่ “พรรคประชาชน” หรือ “พรรคก้าวไกลเดิม” และ “พรรคเพื่อไทย” เสนอร่างแก้ไขมาตรา 256 ก็เริ่มมีการเดินเกมทางการเมืองเกิดขึ้น
สิ่งที่เราได้เห็นคือ “ภูมิใจไทย” ที่เคยหาเสียงสนับสนุนกลับประกาศไม่ขอเข้าร่วมการประชุม โดยอ้างว่า การจะแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อ “ยกร่างใหม่” ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อนที่จะดำเนินการ โดยอ้างถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2564
แน่นอนว่าจุดยืนของ “ภูมิใจไทย” สะท้อนไปยัง “สว.สีน้ำเงิน” ที่มีเป็นจำนวนมาก และทำให้ค่อนข้างแน่ชัดว่าหากเดินหน้ามีความเป็นไปได้สูงว่าญัตตินี้จะถูกตีตก เพราะ สว. ที่ว่ากันว่า “เพื่อไทย” ไปดีลมาได้แค่ 50 คน ไม่ถึง 67 คน ตามเงื่อนไขการแก้
“เพื่อไทย” เองก็รู้เกมนี้ แม้หลายคนจะบอกว่าพวกเขาไม่จริงใจ แต่ The Show Must Go on ก็มีการแก้เกม โดยมี สว. ที่ชื่อว่า “เปรมศักดิ์ เพียยุระ” เสนอว่าให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเลยว่า จะแก้ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ และเสนอให้พิจารณาเรื่องนี้ก่อนจะพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เมื่อมีการโหวต ปรากฏว่า “ที่ประชุมร่วมรัฐสภา” มีมติ 275 เสียง ไม่เลื่อนญัตติเรื่องการส่งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมี ซึ่งนัยยะคือให้เดินหน้าพิจารณาญัตติแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 ได้เลย
ซึ่งในจำนวนนี้มีถึง 136 เสียงที่เป็นเสียงของ สว. ว่ากันว่าตอนลงมติพวกเขาอยากตัดจบในชั้นนี้ลงไปเลย โดยการให้โหวตและโหวตไม่เห็นชอบ ที่จะทำให้เสียงของ สว. ที่สนับสนุนมีไม่ถึง 67 เสียง
แต่ดูเหมือนว่า “ภูมิใจไทย” จะไม่อยากให้ตัดจบเพราะจะกลายเป็นพวกตัวเองขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้พวกเขาตัดสินใจวอล์กเอาท์ในการนับองค์ประชุม โดยอ้างว่าไม่ขอร่วมการประชุมที่เสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย ทำให้ สว. สีน้ำเงินทำตามด้วยท่าทีเดียวกัน

ขณะที่ “เพื่อไทย” เองซึ่งสนับสนุนญัตติให้เลื่อนการพิจารณาว่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ขึ้นมาก่อน มาคราวนี้กลับเลือกที่จะไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุมเช่นกัน ทำให้วันนั้น สภาล่ม! และนัดใหม่วันรุ่งขึ้น (14 ก.พ.68)
แต่วันรุ่งขึ้น คราวนี้เป็น “เพื่อไทย” ที่ขอนับองค์ประชุมเอง และสภาก็ล่มอีกครั้ง และต้องรอนัดหมายใหม่ในครั้งหน้า
ทำให้คนยิ่งตั้งคำถามถึงความจริงใจของพรรคเพื่อไทยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้
แต่ “เพื่อไทย” ก็ยืนยันว่าพวกเขาจริงใจ แต่หากดึงดันเดินหน้าญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็รังแต่จะถูกปัดตกไป
จากเรื่องนี้เราเห็นอะไรได้บ้าง อย่างแรกคือ “พรรคประชาชน” สามารถยืนยันถึงความตั้งใจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่หาเสียง เพราะพวกเขาตั้งใจและตั้งมั่น และปักธงลงหัวใจของคนที่อยากแก้ แน่นอนว่าเป็นแต้มต่อในการเลือกตั้งครั้งถัดไป
เรื่องที่สอง “ภูมิใจไทย” กำลังกายเป็นพรรคที่ปักธงลงหัวใจคนที่ไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญและกำลังจะเป็นตัวแทนของ “กลุ่มขวา” ใหม่ เพราะกลุ่มเดิมที่เคยมีอยู่อ่อนกำลังลงเรื่อยๆ และไม่อาจทัดทานแรงต้นจากการเมืองสมัยใหม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์ รวมไทยสร้างชาติ หรือ พลังประชารัฐ กลุ่มเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะไหลมารวมกัน ณ ที่แห่งนี้
รวมถึงการแสดงให้เห็นว่า ใครกันแน่เป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุด ทั้งเรื่องของการได้สิ่งที่ต้องการ หรือจำนวนสมาชิก หากนับแค่ สส. พวกเขาอาจเป็นรองสองพรรคใหญ่ แต่หากรวม สว. พวกเขาก็คือพรรคลำดับต้นๆ เพราะต้องไม่ลืมว่าเสียงของ สว. นั้นมันมีพลังที่ใหญ่กว่าหนึ่งเสียงปกติมากในรูปแบบของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
เรื่องที่สาม “เพื่อไทย” ดูเหมือนจะตกที่นั่งลำบากที่สุด เรื่องความจริงใจและไม่จริงใจอาจจะฟันธงยาก เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ข้างใน แต่ที่แน่ๆพวกเขาก็ทำให้หลายคนตั้งคำถามถึงจุดยืน ซึ่งหากใครสนับสนุนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็มีแนวโน้มสูงที่จะไม่หันกลับมาหาพรรคนี้

นอกจากนี้ สถานการณ์ในรัฐบาลก็ไม่ราบรื่น เพราะแทนที่จะต้องเดินเกมสู่กับพรรคฝ่ายค้าน แต่นี่ต้องเดินเกมสู้กับพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ยิ่งตอกย้ำว่าไม่มีเสถียรภาพอย่างแท้จริง
และกับการช่วงชิงความเชื่อมั่นของมวลชน “เพื่อไทย” ยิ่งกำลังตกเป็นรองสองพรรคข้างต้น แถมอำนาจในการคุมกำลังคนอย่างมหาดไทยก็ไม่ได้อยู่ในความควบคุมของตนเอง หากกองเชียร์ยังปลอบใจตัวเองก็ให้ดูการเลือกตั้ง อบจ. ครั้งทีผ่านมา
ยิ่งดูการผลักดันเรื่องต่างๆของพวกเขาตลอดที่ผ่านมาก็จะยิ่งเห็นความพ่ายครั้งแล้วครั้งเล่า โดยอีกมุมมี “ภูมิใจไทย” ชนะครั้งแล้วครั้งเล่า
ดูเหมือนว่าเพื่อไทยจะไม่ยอมอีกต่อไปเพราะหลังการ “ล้มสภา” จู่ๆ เราก็เห็นการเปิดแผลเรื่องสนามกอล์ฟของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รุกที่ป่า
ซึ่งว่ากันว่างานนี้ เป็นผลงานของคนที่กำลังมีชื่อมาเป็นรัฐมนตรีในการปรับ ครม. ครั้งหน้า และที่ต้องให้ตำแหน่งเป็นผลตอบแทน เพราะงานเช่นนี้นาทีนี้ไม่มีใครทำได้นอกจากเขา
หากเรื่องสุดท้ายที่น่าจะชัดที่สุด และใกล้กับประชาชนที่สุด เราคงไม่เห็นการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างฉบับใหม่ในรัฐบาลนี้แน่ๆ