
ตีลังกาเล่าข่าว โดย “กรรณะ”
ถ้าเป็นภาษารถก็ต้องบอกว่าหลังจากเหยียบมามิดไมล์ก็ต้องเบรกเอี๊ยดจนตัวโก่ง เพราะขืนไปต่อดีไม่ดีจะแหกโค้งคนขับจะดับคาพวงมาลัย
นี่คือปรากฏการณ์ที่เปรียบเทียบได้เห็นภาพที่สุดกับภารกิจดัน “กาสิโน” ภายใต้เสื้อคลุม “เอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์”
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า เนื้อแท้ของเรื่องนี้ไม่ใช่ศูนย์รวมความบันเทิง หรือ “เอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์” อย่างที่เขากล่าวอ้าง เพราะสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ภายในไม่ว่า สนามกีฬา คอนเสิร์ตฮอล์ โรงแรม โรงหนัง พิพิธภัณฑ์ เราก็มีเต็มบ้านเต็มเมือง อาจจะไม่อยู่ในที่เดียวกัน แต่หากจะเที่ยวก็ไม่ห่างกันมากนัก แต่สิ่งที่ยังไม่มีคือ “กาสิโน” นั่นเอง
และหากไม่มี “กาสิโน” จะต้องไปผลักดัน พ.ร.บ.ฉบับนี้ทำไมให้เหน็ดเหนื่อย หรือเอาเข้าจริงไม่ต้องมีกฎหมายยังได้ แต่ที่ต้องทำนั่นก็เพราะแก่นแกนของเรื่องนี้ไม่ใช่ใดอื่น หากแต่เป็นบ่อนพนันที่ถูกต้องตามกฎหมายนั่นเอง

ส่วนเรื่องจะมีเพื่อสร้างรายได้หรืออะไรอย่างอื่นค่อยว่ากัน แต่อย่ามาทำกระมิดกระเมี้ยนว่ากาสิโนเป็นเพียงเครื่องประดับ เพราะจริงๆแล้วนี่คือหัวใจหลัก
ใครมันจะมาลงทุนเป็นหมื่นๆล้านแถมสัมปทานอีกยาวนานหากไม่มีตัวดึงดูดเงินอย่าง “กาสิโน”
นโยบายนี้ถือเป็นอีกหนึ่งเรือธงของรัฐบาล “เพื่อไทย” และตอนแรกก็ดูเหมือนว่าหลายพรรคการเมืองจะเอาด้วย แต่พอถึงเวลาต่างถอยกรูดไม่เว้นแม้แต่พรรครัฐบาลกันเอง
และสุดท้ายก็เป็นเหมือนเรื่องเรือธงอื่นๆของรัฐบาลที่เหลาไปเหลามาก็ไม่เหลือทรงเดิม หรือถึงขนาดไม่ได้ทำก็มี ถ้ายังนึกไม่ออกให้นึกถึงเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้นึกถึงการแก้รัฐธรรมนูญ , ให้นึกถึงการแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับทหาร
เรื่อง “กาสิโน” ก่อนหน้านี้รัฐบาลเดินหน้าผลักดันอย่างเต็มที่ มีการปรับแก้ทั้งเรื่องคนที่จะมารับสัมปทาน ปรับแก้เรื่องการจำกัดคนเข้า ที่สุดท้ายแทนที่จะสามารถแก้ปัญหาบ่อนใต้ดิน แต่ถ้าเป็นไปตามร่างที่ออกมาจะมีคนไทยที่เข้าเล่นได้แค่ประมาณหมื่นคนเท่านั้น เพราะกำหนดสเป็กสูงว่าต้องมีเงินฝาก 50 ล้าน หากอย่างนี้อย่าว่าแต่ตาสีตาสา ยายมียายมาเลย คนชั้นกลางบนยังเข้าไม่ได้ เพราะจากสถิติมีคนเพียงหยิบมือในประเทศนี้ที่เข้าเกณฑ์
แต่สุดท้ายรัฐบาลก็ดันจนผ่าน ครม. และก็ไวปานสายฟ้าแล่บ มีการบรรจุเข้าวาระการประชุมสภา แถมยังใช้พพลังผลักดันให้เลื่อนญัตติขึ้นมาเป็นวาระแรก หวังให้สภารับหลักการก่อนปิดสมัยประชุมนี้และสมัยประชุมหน้าก็เดินเกมผ่านร่างกฎหมายให้ได้

แต่รัฐบาลอาจจะประเมินผิด หรือไม่ก็เป็นโรคกลัว เหมือนตอนที่กลัวเรื่องการแจกเงินดิจิทัลฯ ทำให้จู่ๆ ก็ถอยกรูด ยอมเลื่อนเอากฎหมายฉบับนี้ไปเข้าในการประชุมสภาสมัยหน้า ซึ่งก็ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าจะได้เข้าแน่ๆ
คำถามคืออะไรที่ทำให้รัฐบาลเพื่อไทยกลัวขนาดนั้น คำตอบแรกคือเสียงคัดค้านที่ประสานเสียงกันดังอื้ออึง
แต่หากดูให้ดีจะเห็นว่าเสียงค้านสามารถแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ค้านหัวชนฝา คือไม่ยอมให้มีแน่ๆ และอีกกลุ่มคือกลุ่มที่อยากให้มี แต่อยากให้ทำให้รัดกุม และมีความเชื่อว่าการที่รัฐบาลเร่งรีบเพราะมีวาระซ่อนเร้น
แต่ไม่ว่าอะไรการที่ทำให้สองกลุ่มนี้รวมกันได้ไม่ใช่เรื่องดี เพราะภาพน้ำผึ้งหยดเดียวจากการผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยยังคงตามหลอกหลอนมาตั้งแต่สมัย “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่ครั้งนั้นกลายเป็นม็อบที่ยืดเยื้อยาวนาน และจบลงด้วยชะตากรรมที่ไม่งดงามสำหรับพลพรรคเพื่อไทย
นี่จึงเป็นภาพจำที่คอยหลอกหลอนพวกเขาตลอดมา และจะไม่ยอมให้ซ้ำรอยเด็ดขาด เหมือนกรณีเงินดิจิทัลฯ ที่ยอมทำตามคำทักท้วงทุกอย่างแม้จะขัดกับที่หาเสียง เพราะภาพสมัยโครงการรับจำนำข้าวก็ตามมาหลอกหลอนเช่นกัน
แต่เสียงคัดค้านจากประชาชนทั่วไป ไม่ใช่ปัจจัยหลักเพียงปัจจัยเดียวกับการใส่เกียร์ถอยครั้งนี้ แต่ยังมีปัจจัยอื่นอีกด้วย
ปัจจัยที่ว่าด้วยการคัดค้านของ สว. ที่มีภาพลักษณ์ทาบทับกับพรรคสีน้ำเงิน ซึ่ง สว. กลุ่มนี้ออกมาเดินหน้าคัดค้าน แถมตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษา ซึ่งก็ล้วนแต่เป็น “คนหน้าเดิม” ที่เคยเดินหน้าขับเคลื่อนจนล้มรัฐบาลมาก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเป็น “เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง” “คำนูณ สิทธิสมาน” “แก้วสรร อติโพธิ” ใครๆก็รู้ว่าคนเหล่านี้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับเพื่อไทยขนาดไหน
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ว่าด้วยพรรคร่วมรัฐบาล แม้ภายนอกจะมีการจับมือแถลงว่าพร้อมผลักดัน แต่ในใจลึกๆ ก็รู้ว่าหลายพรรคไม่เอาด้วย
ถ้าจับสังเกตจะเห็นอาการปล่อยข่าวว่า “ทักษิณ ชินวัตร” ประกาศขับพรรคร่วมที่คัดค้านเรื่องนี้ออกจากรัฐบาล
การปล่อยข่าวครั้งนี้เป็นแผนซ้อนแผน ไม่ได้คาดหวังว่าพรรคร่วมจะโหวตสนับสนุน หากแต่เป็นการปล่อยข่าวเพื่อ “เร่งปฏิกริยา” จากพรรคร่วมฯ ให้รีบปฏิเสธที่จะเดินหน้า
และก็ได้ผลเช่นว่าจริงๆ หลายๆ พรรคออกมาคัดค้าน บางพรรคออกมาตรงๆ บางพรรคออกมาในนามแหล่งข่าว
เรื่องนี้ว่ากันว่าปล่อยข่าวออกมาจากคนในพรรคร่วมเอง และแนวคิดนี้ก็เป็นแนวคิดของคนในพรรคร่วมฯ ไม่ได้เป็นแนวคิดของ “ส.ท.ร. ทักษิณ ชินวัตร” แต่อย่างใด ซึ่งบอกได้เลยว่าเกินกว่าคำว่าได้ผล
ทำให้ “เพื่อไทย” ตระหนักว่า “จิ้งจกทักยังต้องหยุด” นี่สัญญาณชัดขนาดนี้ แถมมีเสียงแว่วว่ามีผู้ใหญ่หลายคนไม่สนับสนุน สุดท้ายเลยต้องเบรกหัวทิ่มไปลุ้นกันในสมัยหน้า
แต่ก็เชื่อได้เลยว่า ต่อให้ถึงสมัยหน้าเส้นทางก็ไม่ราบรื่น เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องร้อน ระดับปรอทแตก และถึงนาทีนี้ “เพื่อไทย” เองก็ไม่ใช่พรรคที่กล้าจะเดินหน้าเหมือนในอดีต นั่นเพราะประสบการณ์สอนว่าหากดึงดันจบไม่สวยแน่ๆ
ที่สุด “เอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์” ก็คงจบลงไปพร้อมกับความฝันของใครบางคน