
ตีลังกาเล่าข่าว โดย “กรรณะ”
สั่นสะเทือนกันไปทั้งโลก หลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” ประกาศมาตรการทางภาษี แม้เจ้าตัวจะเรียกว่า “วันปลดแอก” แต่กับอีกหลายคน หลายประเทศ และแม้แต่คนในอเมริกาเองกลับเรียกว่า “วันโลกาวินาศ”
วิธีคิดของ “โดนัลด์ ทรัมป์” คือที่ผ่านมาสหรัฐฯถูกเอาเปรียบเรื่องทางภาษีจากอีกหลายประเทศ ทำให้อเมริกาตกเป็นฝ่ายเสียดุลทางการค้า และทำให้การผลิตในประเทศไม่มีจนต้องพึ่งพาประเทศอื่น ดังนั้นการปรับขึ้นภาษีกับคู่ค้าที่เขามองว่าเอาเปรียบจะทำให้สหรัฐฯ กลับมายิ่งใหญ่ และกดดันให้ต้องเปิดโต๊ะเจรจาเพื่อให้พวกเขากลับมาได้เปรียบอีกครั้ง
ต้องย้อนกลับไปว่าหลังสิ้นสุดยุคสงครามเย็น สหภาพโซเวียตล่มสลาย สหรัฐฯ เป็นหัวหอกเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ทำให้เศรษฐกิจทั้งโลกก้าวหน้ามั่งคั่ง และมีการเซ็ตสิ่งที่เรียกว่า WTO (World Trade Organization) หรือแปลเป็นไทยว่าองค์การการค้าโลก มากำกับให้การค้าขายมีความสะดวก เลี่ยงมาตรการกำแพงภาษี เพื่อให้โลกทั้งใบค้าขายกันอย่างอิสระเสรี แน่นอนภายใต้แนวคิดนี้เบื้องต้นคนที่ดูจะได้เปรียบมากที่สุดก็คืออเมริกาที่เป็นหัวหอกเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม
อย่างไรก็ตามต้องเข้าใจว่า “กระสุนปืน” ไม่ได้ยิงเข้าเฉพาะศัตรูเท่านั้น แต่หากใครโดนก็บาดเจ็บกันทั้งนั้น
คล้ายกับเรื่องนี้ที่ไปๆมาๆ สหรัฐฯก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะเมื่อการค้าโลกเปิด มีกติกาเรื่องภาษีที่ชัด โลกเป็นโลกาภิวัฒน์ สินค้าต่างๆก็หลั่งไหลข้ามไปมา ประเทศไหนที่ไม่ใช้ผู้ผลิตก็อาจจะต้องถูกสินค้าจากประเทศที่เป็นผู้ผลิตรุกตลาด

สินค้าจากทั่วโลกก็หลั่งไหลไปที่สหรัฐฯ เพราะที่นั่นสินค้าขายได้ราคาดี กำลังซื้อสูง และที่สำคัญสหรัฐฯก็ไม่สามารถผลิตอะไรได้หลายๆอย่างด้วยปัจจัยหลากหลายไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการผลิตที่แพง หรือค่าแรงที่สูงกว่าชาวบ้านแบบลิบลิ่ว ดังนั้นสินค้าจากต่างประเทศจึงเข้าไปตีตลาดอเมริกา แต่สินค้าอเมริกากลับตีตลาดที่อื่นลำบาก
หลายประเทศมีกำแพงภาษีที่สูง แต่สหรัฐฯเองที่ผ่านมาก็หยวนๆ ด้วยเหตุผล “ความเป็นพี่ใหญ่” ที่มีเรื่องอื่นต้องจัดการ เรื่องการค้าอะไรที่ข้ามได้ก็ข้ามไปก่อนเพื่อหวังผลอย่างอื่น ทำให้ที่ผ่านมาสหรัฐฯ เสียดุลกับหลายๆประเทศ แน่นอนไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น
หากในอีกมุมหนึ่งก็ไม่มีอะไรที่ได้ฟรีๆ แม้สหรัฐฯ จะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบเรื่องการค้า แต่พวกเขาก็เอาคืนในแง่อื่น และยิ่งไปกว่านั้นพวกเขายังคงเป็นผู้ที่กุมระบบการเงินโลกเอาไว้
แต่มาถึงยุค “ทรัมป์ 2” เขาไม่ได้แค่เข้ามาทุบโต๊ะ แต่นัยยะที่เกิดขึ้นถึงขั้นล้มโต๊ะกันเลยทีเดียว เมื่อบอกว่า “อเมริกา” จะเลิกเป็นเบี้ยล่าง และจะทำให้ตัวเองได้ประโยชน์สูงที่สุด ในความหมายก็คือจะเอาทุกด้านนั่นเอง และประกาศมาตรการทางภาษี ขึ้นภาษีกับประเทศอื่นๆทั่วโลกแบบบ้าระห่ำ และยกเลิกกฎเกณฑ์ที่เคยเป็นกติกาสำหรับการค้าเสรี

ไม่มีใครฉายภาพและผลกระทบเรื่องนี้ได้ชัดไปกว่า “ลอว์เรนซ์ หว่อง” นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ที่บอกว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระเบียบโลกที่โลกาภิวัตน์ตามกฎเกณฑ์และการค้าเสรีสิ้นสุดลงแล้ว และกลายเป็นระเบียบโลกที่ “ตามอำเภอใจ ปกป้องผลประโยชน์ และอันตรายมากขึ้น”
แปลง่ายๆคือ ระเบียบโลกใหม่คือ ระเบียบโลกของนักเลงที่ไร้กติกาควบคุม
เขายังบอกว่าที่ผ่านมา สหรัฐฯ เป็นผู้นำด้านการค้าเสรี และพยายามสร้างกฎกติกาที่ชัดเจน ทำให้แต่ละประเทศสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าได้ง่ายๆ แต่จากนี้จะไม่เหมือนเดิม
เขาบอกด้วยว่า “ครั้งสุดท้ายที่โลกประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้คือในช่วงทศวรรษที่ 1930 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สงครามการค้าทวีความรุนแรงกลายเป็นความขัดแย้งด้วยอาวุธ และในที่สุดก็กลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2”
นี่คือภาพที่ชัดเจนที่สุด ที่ไม่ใช่แค่เรื่องขายสินค้าแพงขึ้น หรือถูกลง แต่เป็นเรื่องกฎกติกาที่กำลังถูกทำลายโดยมือของผู้นำจากประเทศที่สร้างขึ้นมา
เรียกได้ว่าระดับของหายนะพอๆกับสถานการณ์ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สองกันทีเดียว และหากไม่ยึดติดกับคำว่า “ชาติ” หรือ “ความกระหายเป็นใหญ่” แต่เพียงอย่างเดียว เราจะพบก่อนเกิดความเปลี่ยนแปลง หรือสงครามใหญ่ทุกครั้งก็ล้วนมาจากไฟทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น
แน่นอนว่าหลายประเทศตกใจ แต่หลายประเทศก็เตรียมตั้งรับ เพราะว่ากันตามจริง “ทรัมป์” ก็ไม่ได้เพิ่งมาบอกว่าจะทำแบบนี้ แต่บอกมาก่อนเพียงแต่ระดับการขึ้นนั้นมากเสียทุกคนตกใจ
หลายประเทศเลือกวิธีเดินหน้าเจรจา หลายประเทศเลือกวิธีการตอบโต้อย่างตาต่อต่อฟันต่อฟัน ขึ้นอยู่กับว่าประเทศ หรือกลุ่มประเทศของคุณอยู่ในระดับใด
หันมาดูประเทศในอาเซียน เวียดนามดูเหมือนจะตอบสนองต่อเรื่องนี้เร็วที่สุด เพราะโดนหนักมากคืออัตราภาษีเพิ่มเป็น 46% โดยเมื่อประกาศในคืนวันพุธตามเวลาประเทศไทย วันศุกร์พวกเขาก็เดินหน้าเจรจากับ “ทรัมป์” ทันทีโดยขอให้ชะลอการขึ้นภาษี และเสนอลดภาษีนำเข้าของสหรัฐฯเหลือ 0% และให้คำมั่นว่าจะซื้อสินค้าสหรัฐฯมากขึ้น
เช่นเดียวกับกัมพูชา ก็ทำหนังสือถึง “ทรัมป์” เพื่อขอเจรจา
ขณะที่สิงคโปร์ก็ออกแถลงการณ์เตือนประชาชน

ส่วนไทย โดยนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” ก็ออกแถลงการณ์ บอกว่าไทยตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลเรื่องนี้ตั้งแต่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา และในสัปดาห์นี้ “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกฯ และ รมว.คลัง ก็จะเดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อเปิดการเจรจากับทั้งรัฐและเอกชน
และบอกว่ามีการสรุปข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ทั้งพลังงาน อากาศยาน และสินค้าเกษตร และจะมีแพคเกจส่งเสริมการลงทุนรวมถึงลดอุปสรรคการนำเข้า การปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์
แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ จะมีการหารือในวันที่ 8 เม.ย. หรือวันอังคาร เพื่อสรุปแนวทาง ทำเอาหลายคนอ้าปากหวอกันทีเดียวว่า ต้องรอวันหยุดผ่านพ้นเชียวหรือ ทั้งๆที่สถานการณ์ขนาดนี้
นอกจากนี้ดูเหมือนว่านอกจากจะเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ ไทยยังทำท่าจะตกขบวนกระทั่งอาเซียน เมื่อประธานอาเซียนอย่าง “อันวาร์ อิบราฮิม” ได้ยกหูหารือกับผู้นำอีกอีก 4 ชาติ ไม่ว่าจะเป็นสุลต่านฮัสนัน โบเกี๊ยห์ จากบรูไน นายปราโบโว ซูเบียนโต ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นายบองบอง มาร์กอส จากฟิลิปปินส์ และ นายกฯ ลอเรนซ์ หว่อง จากสิงคโปร์ เพื่อหารือเรื่องสำคัญเรื่องนี้ แต่กลับไม่มีผู้นำไทยอยู่ในนั้น
เราบอกไม่ได้ว่ามีการประสานงาน หรือพูดคุยอย่างไรกก่อนหน้าหรือไม่ แต่การเปิดเผยเช่นนี้ทำให้เห็นว่าไทยไม่ได้อยู่ในลำดับหัวแถวของอาเซียนอีกต่อไป
การแก้ปัญหาที่ทันท่วงทีถือเป็นลำดับความสำคัญชั้นต้นของการเป็นรัฐบาล และการทำให้ประชาชนเห็นว่าได้ทำงานเพื่อแก้ปัญหาก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ การทำเพียงออกแถลงการณ์และรอประชุมหลังวันหยุด รวมถึงการตกขบวนไม่ได้ทำให้ความเชื่อมั่นอะไรดีขึ้นมาเลย ท่ามกลางสถานการณ์ที่ใครๆก็เรียกว่า “ฉุกเฉิน” แบบนี้