อุตุฯ ประกาศเตือนฉบับที่ 3 “พายุฤดูร้อน” ไทยตอนบน 29 มี.ค – 1 เม.ย. 68

อุตุฯ ประกาศเตือนฉบับที่ 3 ไทยตอนบน เฝ้าระวัง “พายุฤดูร้อน” ถล่มหนัก 29 มี.ค – 1 เม.ย. 68

กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือน ฉบับที่ 3 ในช่วงวันที่ 29 มี.ค – 1 เม.ย. 68 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ประเทศลาวตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด 

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านบริเวณที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง หรืออยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ส่วนเกษตรกรควรเสริมความแข็งแรงให้ไม้ผล และเตรียมการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผลผลิตทางการเกษตรและสัตว์เลี้ยง รวมทั้งดูแลรักษาสุขภาพในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไว้ด้วย 

จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีดังนี้

วันที่ 29 มีนาคม 2568

ภาคเหนือ:  จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ:  จังหวัดบึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง :  จังหวัดลพบุรี สระบุรี

ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด

วันที่ 30 มีนาคม 2568

ภาคเหนือ:  จังหวัดตาก แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ:  จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง:  จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด                                     

ภาคใต้:   จังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ 

วันที่ 31 มีนาคม – 1 เมษายน 2568

ภาคเหนือ:  จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก และกำแพงเพชร 

ภาคกลาง:  จังหวัดสุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม  รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคใต้:   จังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์

สภาพอากาศรายวัน วันนี้ 27 มี.ค.68 ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวและมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ทั้งนี้เนื่องจากความกดอากาศต่ำ เนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับมีแนวลมสอบของลมตะวันตกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด โดยหลีกเลี่ยงการทำงานหรือการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นระยะเวลานาน รวมทั้งระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่ง สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน ทำให้ภาคใต้มีฝนน้อย โดยคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร 

ในช่วงวันที่ 29 มี.ค. – 1 เม.ย. 68 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ประเทศลาวตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ส่งผลให้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านบริเวณที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง หรืออยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ส่วนเกษตรกรควรเสริมความแข็งแรงให้ไม้ผล และเตรียมการป้องกันระวังความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผลผลิตทางการเกษตรและสัตว์เลี้ยง รวมทั้งดูแลรักษาสุขภาพในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไว้ด้วย

สภาวะอากาศที่มีผลต่อการสะสมฝุ่นละอองในระยะนี้: การสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างมากถึงมากเนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อนลง

สภาพอากาศแยกตามภูมิภาค

ภาคเหนือ

อากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัว โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ อุณหภูมิต่ำสุด 19-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-41 องศาเซลเซียส   ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัว กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดเลย บึงกาฬ หนองบัวลำภู นครพนม ชัยภูมิ และนครราชสีมาอุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อณหภูมิสูงสุด 37-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.

ภาคกลาง

อากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัว โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี อุทัยธานี และราชบุรีอุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 38-40 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.

ภาคตะวันออก

อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัว โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครนายก ระยอง จันทบุรี และตราดอุณหภูมิต่ำสุด 25-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาสอุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียสลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดกระบี่ ตรัง และสตูล อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียสลมตะวันตกเฉียงเหนือ  ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

กรุงเทพและปริมณฑล

อากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัว โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งอุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.