กรมอุตุฯ เผยแผ่นดินไหวยังไม่สงบ อาจมี ‘อาฟเตอร์ช็อก‘

ยังอันตราย! “กรมอุตุฯ” เผยแผ่นดินไหวยังไม่สงบ อาจมี ‘อาฟเตอร์ช็อก‘ ตามมา ขอประชาชนอยู่นอกตึก ยันไม่เกิด ‘สึนามิ’

วันนี้ (28 มี.ค.68) กรมอุตุนิยมวิทยารายงานผ่านเพจ Facebook ระบุว่า เวลา 13.30 น. เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 7.4-8.2 ริกเตอร์ ลึก 10 กิโลเมตร บริเวณใกล้เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ห่างจากประเทศไทย จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 320 กิโลเมตร โดยแรงสั่นสะเทือนสามารถรับรู้ได้ในพื้นที่ประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพมหานคร 

กรมอุตุนิยมวิทยาและศูนย์เตือนภัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ได้ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด และจะรายงานอาฟเตอร์ช็อกเป็นระยะๆ ขณะนี้เหตุการณ์ยังไม่สงบและได้รับรายงานความเสียหายบางส่วน

เบื้องต้นขอให้ประชาชนออกมาอยู่ในพื้นที่กลางแจ้ง เพื่อความปลอดภัยและรอจนถึงสถานการณ์จะสงบ และรอประกาศจากทางการเป็นระยะๆ 

ทั้งนี้ พี่ควรพึงระวังในระยะถัดไปคือการเฝ้าระวังและติดตามอาฟเตอร์ช็อกที่อาจเกิดขึ้น และอาฟเตอร์ช็อกยังมีขนาดใหญ่ และมีผลกระทบต่ออาคารบ้านเรือนของประชาชนในโซนที่มีความเสี่ยง หรืออาคารที่ไม่ปลอดภัย ขอให้ประชาชนออกมาอยู่ข้างนอก

ขณะที่ความกังวลในเรื่องของสึนามิ เป็นผลกระทบเกิดจากแผ่นดินไหว ขณะนี้ยืนยันว่าไม่มีโอกาสเกิดสึนามิ ขอให้พี่น้องประชาชนอย่าตื่นตระหนกตกใจ หากเกิดเหตุผิดปกติจะรายงานผ่านกรมอุตุนิยมวิทยาต่อไป

นายไพบูลย์ นวลนิล นักแผ่นดินไหววิทยา กล่าวว่า สิ่งที่จะต้องติดตามต่อจากนี้ว่าจะมีอาฟเตอร์ช็อก ปกติจะเกิดภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากเกิดเมนช็อก เมื่อเวลา 13.20 น. โดยขอให้ ประชาชนเฝ้าระวัง ตั้งแต่เวลา 14.00 -14:30 น.

ขณะเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยา ขอแจ้งให้ทราบว่า ภัยแผ่นดินไหวยังคงเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ การป้องกันและบรรเทาภัยแผ่นดินไหวที่มีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องได้รับข้อมูลความสั่นสะเทือนของพื้นดินที่ถูกต้องจากระบบตรวจวัดที่มีมาตรฐานสากล

ได้แก่ สถานีตรวจวัดอัตราเร่งของพื้นดิน สถานีวัดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก และสถานีวัดระดับน้ำทะเล ที่ติดตั้งอยู่ทั่วประเทศไทย เพื่อตรวจวัด เฝ้าระวัง และให้บริการข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องภัยแผ่นดินไหวในประเทศอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ตลอดจนแจ้งเตือนภัยให้กับพื้นที่เสียงภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในทะเล เมื่อตรวจพบความผิดปกติก็จะสามารถส่งข้อมูลแจ้งเตือนได้ทันที

ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยพบว่ามีโอกาสการเกิดแผ่นดินไหวได้น้อย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น สิ่งที่ประชาชนสามารถทำได้เพื่อป้องกันและบรรเทาภัยแผ่นดินไหว คือการติดตามข่าวสารด้านภัยธรรมชาติอยู่เสมอๆ เพื่อรับข้อมูลได้รวดเร็ว หากเกิดเหตุขึ้นก็จะสามารถเตรียมตัวอพยพได้ทันท่วงที