
มีเรื่องให้ลุ้นกันอีกแล้วค่ะลูกเพจ เมื่อช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม ก็มีลุ้นที่จะดูซูเปอร์ฟูลมูน หรือพระจันทร์ใกล้โลกที่สุด สำหรับเดือนนี้ มีลุ้นชม ดาวหางนิชิมูระ ค่ะ
ดาวหางนิชิมูระ ถูกค้นพบเมื่อไม่กี่อาทิตย์ก่อนหน้านี้เองค่ะ ถูกพบโดยนักดาราศาสตร์มือสมัครเล่นชาวญี่ปุ่น อย่าง ฮิเดโอะ นิชิมูระ เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 66
เขาใช้กล้องโทรทรรศน์ถ่ายภาพท้องฟ้าในช่วงรุ่งเช้า แล้วพบว่ามีวัตถุท้องฟ้าบางอย่างที่ไม่สามารถระบุได้บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ (Gemini) ติดมาในภาพ เมื่อกลับไปดูภาพถ่ายวันก่อน ก็พบวัตถุเดียวกันนี้ แต่มีการเปลี่ยนตำแหน่งไปเล็กน้อย จึงคาดว่าน่าจะเป็นดาวหางดวงใหม่ที่ไม่เคยมีใครค้นพบ
หลังจากนั้น ฮิเดโอะ ส่งข้อมูล ส่งข้อมูลไปยัง Minor Planet Center ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะช่วยตรวจสอบและยืนยันการค้นพบวัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะอย่างเป็นทางการ
ได้รับการยืนยันในวันที่ 15 ส.ค. 2023 จึงกำหนดชื่อดาวหางดวงนี้อย่างเป็นทางการว่า “C/2023 P1 (Nishimura)” จัดเป็นดาวหางคาบยาวที่มีแหล่งที่มาจากเมฆออร์ต (Oort Cloud) มีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 437 ปี ขณะนี้กำลังโคจรเข้าใกล้โลกและดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อยๆ และจะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 17 ก.ย.66

ถ้าใครอยากจะเห็นดาวหางนิชิมูระจะสามารถดูได้ช่วงเช้า ทางทิศตะวันออกก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ของวันที่ 8 ก.ย. 66 สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าในพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีไฟ
ในช่วงวันถัดมาหลังจากนี้ แม้ดาวหางจะโคจรเข้ามาใกล้โลกและดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ขณะเดียวกันดาวหางก็จะมีตำแหน่งปรากฏบนท้องฟ้าเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น ทำให้ยิ่งเห็นได้น้อยลงเรื่อยๆ

ในวันที่ 12 ก.ย. 66 จะเป็นวันที่ดาวหางโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุด ด้วยระยะห่าง 125 ล้านกิโลเมตร แต่ก็เป็นช่วงที่ดาวหางมีตำแหน่งปรากฏบนท้องฟ้าอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์มาก ทำให้ยากต่อการมองเห็น
หลังจากวันที่ 15 ก.ย. 66 ดาวหางจะเปลี่ยนมาปรากฏทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำ และมีมุมปรากฏบนท้องฟ้าห่างออกจากดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในวันที่ 17 ก.ย. 66 จะเป็นวันที่ดาวหางโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด จะยิ่งมีความสว่างมากขึ้น
โดยเว็บไซต์ Comet Observation database (COBS) คาดว่า ดาวหางอาจมีค่าความสว่างปรากฏได้มากถึง 3.0 ซึ่งเป็นค่าความสว่างปรากฏที่สามารถสังเกตเห็นด้วยตาเปล่าได้ไม่ยาก
ในวันที่ 17 ก.ย.นี้ จะสามารถเห็นดาวหางได้ ทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตก ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นมุมประมาณ 10 องศา มีเวลามองเห็นเกือบ 1 ชั่วโมงก่อนที่จะตกลับขอบฟ้าตามดวงอาทิตย์ไป
หลังจากนี้ดาวหางจะค่อยๆ โคจรออกห่างจากดวงอาทิตย์ และมีความสว่างลดลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถเห็นได้อีก จะโคจรกลับเข้ามาเฉียดโลกและดวงอาทิตย์อีกครั้งในอีกกว่า 400 ปีข้างหน้า
อย่าลืมออกมาดูดาวหางกันนะคะ เพราะไม่รู้จะมีโอกาสได้เห็นอีกเมื่อไหร่ มาดูความสวยไปด้วยกัน
อ้างอิง :
[1] https://www.cobs.si/comet/2447/
[2] https://www.astronomy.com/observing/comet-nishimura-is-brightening-fast-see-it-now/
[3] https://earthsky.org/tonight/new-comet-c-2023-p1-nishimura-bright-august-september-october-2023/
เรียบเรียง : ธนกร อังค์วัฒนะ – เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.