
เคยสงสัยกันไหมว่าทำไหมช่วงฤดูหนาวเราถึงป่วยง่าย ป่วยบ่อย!
อีจัน ได้อ่านข้อมูลที่ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์อธิบายไว้เฟซบุ๊ก ขอนำมาบอกต่อกัน
ดร.อนันต์ บอกว่า ช่วงอากาศเย็นๆ มักเป็นหวัดหรือติดไวรัสง่ายขึ้น หลายคนสงสัยว่าทำไม หรือ เพราะไวรัสอยู่ในอากาศเย็นๆ ได้นานกว่าอากาศปกติ???
อันนี้เป็นสิ่งที่ใช้อธิบายกันมาตามสมมติฐาน
งานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ออกมาเสนอคำอธิบายว่า จริงๆ แล้วอากาศที่เย็นลงส่งผลที่ร่างกายเราเปลี่ยนแปลงมากกว่าคุณสมบัติของไวรัสที่อยู่นานขึ้นครับ

ทีมวิจัยของ Harvard พบว่า ในสภาวะปกติเซลล์ในระบบทางเดินหายใจส่วนบน คือ จมูกและคอจะมีการสร้างโครงสร้างคล้ายๆ กับอนุภาคไขมันเล็กๆ ปล่อยออกมานอกเซลล์อยู่ตลอดเวลา
อนุภาคไขมันดังกล่าวชื่อว่า EVs หรือ extracellular vesicles เนื่องจากอนุภาคเหล่านี้ปล่อยออกมาจากเซลล์จึงมีการนำโปรตีนที่ผิวเซลล์ติดออกมาด้วย ซึ่งรวมไปถึงโปรตีนที่ไวรัสใช้จับเพื่อเข้าเซลล์ อย่าง ACE2 ที่ไวรัส SARS-CoV2 จับก็อยู่ใน EVs เหมือนกัน ดังนั้นร่างกายสร้าง EVs ออกมาก็เพื่อเป็นกลไกป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสตามธรรมชาติ
ทีมวิจัย พบว่า อุณหภูมิที่เย็นลงมีผลต่อการสร้าง EVs ที่น้อยลงอย่างชัดเจน และยังส่งผลให้การนำสารต้านไวรัสต่างๆ ที่จะบรรจุในอนุภาค EVs ไม่ดีด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกันสำคัญด่านแรกๆ ที่การดักจับไวรัสได้
ดังนั้นปริมาณไวรัสเพียงเล็กน้อยซึ่งปกติไม่ทำให้เราติดเชื้อและป่วยได้ ก็จะสามารถติดได้ในช่วงอากาศที่เย็นลง
สรุปแล้วอากาศเย็นทำให้กลไกการทำงานในโพรงจมูกดักจับเชื้อโรคได้น้อยลง ส่งผลให้ช่วงอากาศเย็นหรือฤดูหนาวเราจึงเป็นหวัดบ่อย และไม่สบายง่าย