
หลายคนคงเคยเจอจนชิน ในการทำเครื่องหมาย หรือเขียนข้อความต่างๆ ลงบนกล่องหรือถุงที่ใส่อาหาร เวลาไปซื้ออาหารแล้วสั่งหลายๆ ถุง หรือสั่งอะไรที่พิเศษกว่าปกติ อย่าง ไม่ใส่ผัก ไม่เผ็ด ใส่แค่หมู เพื่อให้เราสามารถแยกออกว่าแต่ละถุงแตกต่างกันอย่างไร
วานนี้ (20 ก.ค.66) ได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก Pimm Guzzo โพสต์ภาพของถุงโจ๊กหมู ที่ใช้ปากกาเมจิกเขียนว่า ‘หมูล้วน’ และมีสีเมจิกเลือนออกมาปนโจ๊ก ผ่านกลุ่ม พวกเราคือผู้บริโภค พร้อมแคปชันว่า “โจ๊กเจ้าดังเจ้าหนึ่ง”

หลังจากภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ทำเอาชาวโซเชียลมีเดียกดถูกใจ กดแชร์ และแห่แสดงความคิดเห็นกันเป็นอย่างมาก เช่น ใช้ถุงเกรดถูกมาใส่ของร้อนจัดอันตรายมากครับ ถ้าใช้ถุงที่ถูกต้องทนความร้อนได้ถึง 120 องศาเซลเซียส ปากกาเคมีแบบลบไม่ได้จะไม่ซึมเข้าเนื้อถุงจนไปสัมผัสอาหารที่ร้อนครับ, วันก่อนเราซื้อกะทิ แม่ค้าใช้ปากกาเคมีนี่แหละ เขียนบนถุง พอมาถึงบ้าน สีปากกาจางลง แต่กะทิเราเปลี่ยนเป็นสีคราม พอแกะถุงมา กลิ่นปากกาเคมีคลุ้งในกะทิเลยค่ะ


ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็อย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ของ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เตือนเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ระบุว่า
ไม่ควรใช้ปากกาเมจิก เขียนบนพลาสติกบรรจุอาหาร เนื่องจากพลาสติกเป็นวัสดุที่มีโมเลกุลของสารตั้งต้นมาจับตัวกันเป็นสายยาว และเป็นร่างแหของโพลิเมอร์ โดยที่ในตัวเนื้อพลาสติกนั้น มีช่องว่างเล็กๆ อยู่ เมื่อพลาสติกถูกความร้อน จะเกิดการขยายตัวและทำให้ช่องว่างมีพื้นที่กว้างขึ้น ทำให้ความชื้นหรืออากาศสามารถแทรกซึมผ่านได้
อีกทั้ง หมึกของปากกาเมจิกเป็นสารเคมีที่มีสภาพเป็นสารมีขั้ว จึงอาจซึมผ่านเนื้อของพลาสติกบางชนิดได้ดี โดยเฉพาะกับพลาสติกกลุ่มที่มีเนื้อไม่แน่น
และแน่นอนว่า เนื้อสีของปากกาเมจิกนั้น มีสารเคมีที่เป็นตัวทำละลาย หากกินเข้าไปอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย และอาจเป็นสารก่อมะเร็งได้ จึงไม่ควรเขียนถุงพลาสติกบรรจุอาหารด้วยปากกาเมจิก เพราะถุงพลาสติกไม่ได้ถูกออกแบบมาให้สำหรับการเขียนปากกาเมจิกลงไป
อย่างไรก็ตาม หากต้องการสร้างสัญลักษณ์เพื่อให้เห็นความแตกต่างของอาหารประเภทถุงแกง ควรหาวิธีอื่นในการสร้างสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายต่างๆ อย่าง เขียนใส่กระดาษติดไว้ แยกสียางรัดถุงแกง เพราะหากเป็นมะเร็งมาไม่คุ้มแน่นอนค่ะ
ข้อมูลจาก: Pimm Guzzo , อ๋อ มันเป็อย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์