ไม่ใช่ลาวา! อ.เจษฎ์ เคลียร์ “โคลนปริศนาในพม่า” ที่แท้คือ “ดินเดือด”

รศ.ดร.เจษฎา เฉลยปมโคลนปริศนาที่โผล่กลางรอยแยกพื้นดินในเมียนมา หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ แท้ที่จริงแล้วคือ “สภาวะดินเดือด” (Soil Boiling) ซึ่งเกิดจากแรงดันน้ำในดินพุ่งสูง ย้ำไม่ใช่ลาวา

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศเมียนมา (28 มี.ค. 68) ทำให้ในหลายพื้นที่ได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะตึกสร้างอาคาร และมียอดผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,600 รายแล้ว ขณะเดียวกันในโลกออนไลน์ ได้มีการเผยแพร่ภาพพื้นดินในเมียนมาที่เกิดการแยกตัว มีโคลนแปลกผุดขึ้นมา ลักษณะคล้ายคลึงกับ “ลาวา” จนกลายเป็นที่พูดถึงอย่างมาก หวั่นเป็นอันตราย

วันนี้ (30 มี.ค. 68) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Jessada Denduangboripant ไขข้อสงสัย ของภาพรอยโคลนสุดแปลกที่ผุดขึ้นมากลางรอยพื้นแยกของประเทศเมียนมา ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ใช่ลาวา แต่เป็นร่องรอยของ “สภาวะดินเดือด” โพสต์ระบุว่า

(เพิ่มเติมข้อมูล : เป็นปรากฏการณ์ “liquidfaction” เกิดจากแผ่นดินไหวทำให้แรงดันน้ำในดินสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเกิดเป็นฟองดัน ดินโคลนขึ้นมาตามรอยแยก เรียกว่า “สภาวะดินเดือด soil boiling” ครับ) 

ถ้าให้เดา มันก็น่าจะเป็นการเกิดรอยแยก แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว และทำให้น้ำใต้ดินผุดขึ้นมาครับ แล้วน้ำก็ผลักดันพวกดินโคลนแร่ธาตุที่อยู่ใต้ดิน ขึ้นมาแห้งข้างบนด้วย ถ้าให้มั่นใจได้มากกว่านี้ ก็ต้องส่งทีมธรณีวิทยา ไปสำรวจครับ

แต่ไม่ใช่ลาวาหรือหินหลอมเหลวแน่ๆครับ ตรงนั้นเป็นแค่รอยเลื่อน ไม่ใช่แนวปะทุเป็นภูเขาไฟ 

(เพิ่มเติม) Soil boiling คือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อก๊าซหรือของเหลวใต้ดินถูกดันขึ้นมาผ่านชั้นดินอย่างรวดเร็ว ทำให้ดินดูเหมือนกำลังเดือด (คล้ายกับน้ำเดือด)  

ซึ่งมักเกิดขึ้นจากแรงดันที่สะสมอยู่ใต้ดินและสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น 

1. แรงดันน้ำใต้ดิน (Pore Water Pressure) สูง  – เกิดขึ้นเมื่อน้ำใต้ดินถูกกักอยู่ใต้ชั้นดินที่มีความหนาแน่นสูง แล้วได้รับแรงดันเพิ่มขึ้น เช่น จากกระบวนการก่อสร้างหรือแผ่นดินไหว 

2. กระบวนการทางธรณีวิทยา – เช่น การปล่อยก๊าซจากโพรงใต้ดิน หรือกิจกรรมของภูเขาไฟ 

3. Liquefaction (การทรายเหลว)  – เกิดขึ้นเมื่อดินอิ่มตัวด้วยน้ำและได้รับแรงสั่นสะเทือน เช่น จากแผ่นดินไหว ทำให้ดินสูญเสียความแข็งแรงชั่วคราวและเคลื่อนตัวขึ้นมาเหมือนกำลังเดือด 

4. การรั่วไหลของก๊าซใต้ดิน  – เช่น มีเทน (Methane) หรือก๊าซธรรมชาติอื่น ๆ ที่สะสมอยู่ใต้ดินแล้วมีแรงดันมากพอที่จะดันตัวขึ้นมาสู่ผิวดิน 

ปรากฏการณ์นี้อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อาคาร ถนน และเขื่อน เพราะอาจทำให้ดินสูญเสียความแข็งแรงและเกิดการทรุดตัวได้ 

ขอบคุณข้อมูล : เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant