วิกฤติของจริง! เด็กนักเรียนหลุดระบบการศึกษากลางคันพุ่ง 1 ล้านคน

วิกฤติของจริง! เด็กนักเรียนหลุดระบบการศึกษากลางคันพุ่ง 1 ล้านคน ชี้การเมืองหม่น เศรษฐกิจซึม สังคมผุกร่อน ทำการศึกษาพัง

วันนี้ (2 ก.ค.67) รายงานจากเพจเฟซบุ๊ค เรื่องเล่าเช้านี้ ระบุข้อมูลจาก นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา และกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัจจุบันว่ามีเด็กนักเรียนออกจากการศึกษากลางคัน หรือหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นไปอย่างหนักหน่วงในปี 2567

นายสมพงษ์ กล่าวว่า โดยข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่าปี 2566 มีเด็กออกกลางคัน หรือออกจากระบบการศึกษาจำนวน 1,025,514 คน เพิ่มขึ้นจากอดีตที่ผ่านมามีเด็กออกจากการศึกษากลางคันอยู่ที่ปีละ 500,000 คน โดยส่วนใหญ่จะออกกลางคันช่วงมัธยมต้น-มัธยมปลาย แต่ปัจจุบันมีเด็กออกกลางคันในช่วงรอยต่ออื่นเพิ่มมากขึ้น คือช่วงประถม-มัธยม และมัธยมต้น-สายอาชีพ

ซึ่งสาเหตุไม่เพียงแต่เป็นปัญหาจากความยากจนในอดีต แต่มีปัญหาอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และการศึกษา ทั้งหมดนี้มีความเกี่ยวพันกัน

“ขณะนี้การเมืองหม่นหมองจนสร้างความไม่มั่นใจให้กับการทำงาน การลงทุน เศรษฐกิจถดถอยและซบเซาจนสังคมมีสภาพผุกร่อน ไปจนถึงระบบการศึกษาที่มีปัญหาส่งผลให้เด็กออกจากการศึกษาช่วงกลางคันมากขึ้น ดังนั้น จึงทำให้ครอบครัวนำเด็กออกจากสถานศึกษา”นายสมพงษ์ กล่าว

ดังนั้น ขณะนี้ต้องหาทางเข้าช่วยเหลือวิกฤติเด็กออกจากการศึกษากลางคัน โดยนโยบายแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) เพื่อช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทย ซึ่งเมื่อวันที่ 28 พ.ค.67 มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กับ 11 หน่วยงาน ร่วมผลักดันนโยบายนี้ หรือนโยบายพาน้องกลับมาเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

“ส่วนตัวเห็นความพยายามแต่สถานการณ์ปัจจุบันรุนแรง และเกิดขึ้นรวดเร็วกว่าการแก้ปัญหา ซึ่งการปรับแก้ปัญหาไป 1 ถึง 2 ก้าวยังไม่ตอบโจทย์เด็กกลุ่มนี้ ซึ่งมีอยู่ 15% ของประเทศ ขณะที่ 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลชุดเก่าไม่ได้ทุ่มเทเอาใจใส่วิกฤติเด็กออกกลางคันเท่าที่ควร ทำให้เกิดปัญหาวิกฤติต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน”นายสมพงษ์ กล่าว


ข่าวน่าสนใจอื่น


นายสมพงษ์ กล่าวว่า ประกอบกับเจอโควิด ทำให้คนตกงาน ครอบครัวมีหนี้สิน เด็กเรียนออนไลน์อยู่บ้านผ่านมือถือ จนเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย เด็กมีพฤติกรรมเชิงลบ เข้าสังคมไม่เป็น เป็นพื้นฐานที่ทำให้เด็กปรับตัวได้ยาก เมื่อไปเรียนออนไซต์เต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการ ต้องรับฟังการวิจารณ์และแก้กฎระเบียบ โดยเฉพาะอย่าให้เป็นภาระของรัฐบาลอย่างเดียวในการจัดการศึกษา ต้องให้ภาคท้องถิ่น และเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม

ทั้งนี้ ปัจจุบันสัดส่วนการจัดการศึกษาราว 76% เป็นเรื่องของกระทรวงศึกษาธิการ และส่วนท้องถิ่นอยู่ที่ 18% และเอกชนมีอยู่ 5-6% ซึ่งข้อเสนอคือต้องปรับสัดส่วนการจัดการศึกษาคือให้กระทรวงศึกษาธิการ สัดส่วนที่ 50% ส่วนท้องถิ่นอยู่ที่ 25% และเอกชน อยู่ที่ 25% จะส่งผลให้เกิดการจัดการศึกษาที่หลากหลาย

โดยล่าสุด นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ด้วยความห่วงใยของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต่ออนาคตของเยาวชนไทย ทำให้ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมบูรณาการการทำงานแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ค้นหาช่วยเหลือเยาวชนอายุ 3 – 18 ปี ที่ไม่พบข้อมูลในระบบการศึกษา และดูแลช่วยเหลือเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาเหล่านี้ ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ตามมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout เริ่มปฏิบัติการค้นหาช่วยเหลือเยาวชนนอกระบบการศึกษาตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2567 นี้ ทุกจังหวัดเพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์ของไทยเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout (28 พฤษภาคม 2567) แสดงถึงความห่วงกังวลที่รัฐบาลมีต่อเด็ก และเยาวชน นอกระบบ จัดให้เป็นวาระแห่งชาติ โดย Thailand Zero Dropout ประกอบด้วย 4 มาตรการสำคัญ ได้แก่

1. มาตรการค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ผ่านการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การค้นพบเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา

2. มาตรการติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา โดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนแต่ละรายอย่างเหมาะสม ทั้งด้านการศึกษา สุขภาวะ สภาพความเป็นอยู่ และสภาพสังคม

3. มาตรการจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่น มีคุณภาพ และเหมาะสมกับศักยภาพของเด็กและเยาวชนแต่ละราย มีเป้าหมายให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาและการพัฒนาเต็มศักยภาพของตนเอง

4. มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมจัดการศึกษาหรือเรียนรู้มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ในลักษณะ Learn to Earn

โดยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ทุกจังหวัดจะ Kick off กระบวนการค้นหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาทั้งประเทศ ใช้ Application “Thai Zero Dropout” สนับสนุนภารกิจ สำรวจค้นหา วางแผน ช่วยเหลือ และเชื่อมโยง ส่งต่อการช่วยเหลือทั้งระดับพื้นที่และระดับประเทศ รวมถึงการติดตามความก้าวหน้า

“นายกรัฐมนตรีห่วงใยเยาวชน อนาคตของชาติ ซึ่งได้สั่งการบูรณาการฐานข้อมูลพบว่า มีเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 3 – 18 ปีกว่า 1.02 ล้านคน ที่ไม่พบข้อมูลในระบบการศึกษา สั่งการอย่างเคร่งครัดให้แก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา นายกรัฐมนตรีย้ำว่าประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเด็กเป็นประเด็นที่รัฐบาลห่วงใยให้ความสำคัญระดับต้น เชื่อมั่นว่าความก้าวหน้าในการทำงานโครงการนี้ และโครงการอื่น ๆ ของรัฐบาล จะทำให้เด็กไทยกลับเข้าสู่ระบบ ได้รับการพัฒนาทั้งการศึกษา และการพัฒนาที่เหมาะสม เพื่ออนาคตของชาติต่อไป” นายชัย กล่าว 

อนึ่ง “เด็ก Dropout คือ ใคร? เด็ก Dropout คือเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา โดยองค์การยูเนสโกและยูนิเซฟได้ให้นิยามสากลคำว่า เด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาไว้ 5 มิติ”

มิติที่ 1 เด็กปฐมวัยที่ไม่ได้เข้าเรียนชั้นอนุบาลหรือประถมศึกษา

มิติที่ 2 เด็กที่เข้าเรียนช้า หรือได้เข้าเรียนระดับประถม แต่หลุดจากระบบไป

มิติที่ 3 เด็กที่เข้าเรียนช้า หรือได้เข้าเรียนระดับมัธยมต้น แต่หลุดจากระบบไป

มิติที่ 4 เด็กที่เสี่ยงหลุดจากระบบ ในระดับประถม

มิติที่ 5 เด็กที่เสี่ยงหลุดจากระบบ ในระดับมัธยมต้น


คลิปอีจันแนะนำ

อาหารกลางวัน ในฝันของนักเรียน