ที่ปรึกษา วสท. วิเคราะห์สาเหตุ ทำไม? ตึก สตง. ถล่มแค่ตึกเดียว

รศ.เอนก สิริพานิชกร ที่ปรึกษาประธานสาขาโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย วิเคราะห์สาเหตุที่ตึก สตง.แห่งใหม่ เกิดการถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวเพียงที่เดียว

ท่ามกลางความตื่นตระหนกของประชาชน จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ซึ่งมีความรุนแรงขนาด 8.2 ลึก 10 กม. โดยอยู่ห่าง อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 326 กม. พร้อมกับเกิดแรงสั่นสะเทือนในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ และภาคเหนือ พร้อมกันนี้ 1 ในเหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุด คือเหตุการณ์ตึกก่อสร้างย่านจตุจักร กรุงเทพฯ เกิดการทรุดตัวและถล่มลงมา ทำให้มีผู้สูญหายจำนวนมาก

ซึ่ง “อีจัน” ได้มีโอกาสสอบถามไปยัง รศ.เอนก สิริพานิชกร ที่ปรึกษาประธานสาขาโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ซึ่ง รศ.เอนก ได้วิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ ที่ทำให้อาคารย่านจตุจักรเกิดทรุดถล่ม กล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ มีระดับความถี่ของแรงสั่น ซึ่งสังเกตได้ว่าหลายอาคารในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็เกิดอาการสั่นสะเทือนเช่นเดียวกัน

แต่การที่ตึกดังกล่าวเกิดทรุดตัวและถล่มลงมานั้น เนื่องจากการสูญเสียกำลังของเสาฐานตึกชั้นล่าง ซึ่งมีเสายาวกว่าชั้นอื่น จึงเกิดการอ่อนตัว และทรุดถล่มลง 

ขณะเดียวกัน มีการตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมตึกต่าง ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงถึงไม่เกิดการถล่ม? รศ.เอนก กล่าวว่า แต่ละตึกมีโครงสร้างการออกแบบที่แตกต่างกัน ทำให้ความสามารถในการรับแรงอาจไม่เท่ากัน ประกอบกับโครงสร้างอาจยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จึงเกิดการถล่มลงได้ อย่างไรก็ตาม ทุกอาคารในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีความสูงเกิน 15 ชั้น จะต้องออกแบบให้รับแรงแผ่นดินไหวได้

รศ.เอนก กล่าวเพิ่มเติมว่า การออกแบบอาคาร จะต้องแบ่งระบบโครงสร้าง พื้นคาน ระบบรับแรงบรรทุกแนวดิ่งและด้านข้าง ซึ่งในส่วนนี้จะต้องตรวจสอบอีกครั้งว่าโครงสร้างโดยรวมแข็งแรงพอหรือไม่

พร้อมกันนี้ รศ.เอนก ได้กล่าวถึงข้อกฎหมายควบคุมการออกแบบอาคารของประเทศไทย ที่มีขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นฉบับแรก โดยบังคับให้อาคารสูงเกิน 15 เมตร ใน 10 จังหวัดเสี่ยงแผ่นดินไหว เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ฯลฯ ต้องออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหว

ก่อนที่ปี พ.ศ. 2550 จะออกกฎกระทรวงฉบับใหม่ โดยเพิ่มพื้นที่บังคับใช้ใน กรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากโครงสร้างดินมีลักษณะนุ่ม ทำให้แรงสั่นจากแผ่นดินไหวที่เกิดไกล ๆ ส่งผลสะเทือนรุนแรง เช่นเดียวกับเคสดังกล่าว และกฎกระทรวงฉบับล่าสุด ปี 2564 ได้ขยายพื้นที่ควบคุมบังคับใช้กว่า 43 จังหวัด โดยเป็นการควบคุมอาคารหลายประเภท เช่น อาคารสาธารณะ เป็นต้น