สสส. เตือน! PM2.5 วิกฤตหนัก! แนะหยุดเผาไร่ ก่อนฝุ่นเผาปอด

วันที่ 7 ก.พ. 68 ที่ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยในเวที PM2.5 Talk Forum ว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในไทยรุนแรงต่อเนื่องกว่า 15 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยต้นเหตุสำคัญมาจากการเผาพื้นที่เกษตรที่ขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการเผานาข้าวและไร่ข้าวโพด

ปี 2567 พบการเผาพื้นที่เกษตรพุ่งขึ้น 73% จาก 11 ล้านไร่ เป็น 19 ล้านไร่ ขณะที่ไฟป่ากลับลดลงจาก 7 ล้านไร่ เหลือ 3.2 ล้านไร่ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่การเผาเพิ่มสูงขึ้น มากกว่า 500% ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศและสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรง

จากข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า ภาคเหนือยังคงเป็นพื้นที่ที่มีการเผาสูงสุด ในช่วงต้นปีของทุกปี และยังได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันข้ามแดนที่เกิดจากการเผาซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ปริมาณการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นจาก 1.3 ล้านตัน ในปี 2566 เป็น 2 ล้านตัน ในปี 2567 ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับปริมาณการเผาในพื้นที่เกษตร

“การเผาพื้นที่เกษตรเป็นสาเหตุสำคัญของ PM2.5 ที่ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพ” นายสันติชัย อาภรณ์ศรี บรรณาธิการบริหาร Rocket Media Lab กล่าว “จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2567 จำนวนผู้ป่วยจากมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในภาคตะวันออก ซึ่งมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจาก 7.8 แสนคน เป็น 9 แสนคน หรือเพิ่มขึ้น 14%”

จ.สระแก้ว ซึ่งเป็นจังหวัดที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากที่สุดในภาคตะวันออก และมีอาณาเขตติดกับกัมพูชา มีจำนวนผู้ป่วยจากมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นถึง 16% สะท้อนว่าการเผาไร่ข้าวโพดในประเทศเพื่อนบ้านมีผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพอากาศในไทย

สสส. เร่งผลักดันนโยบาย “สังคมอากาศสะอาด”

ดร.นพ.ไพโรจน์ ระบุว่า สสส. กำหนดยุทธศาสตร์ 10 ปี (2565-2574) เพื่อจัดการมลพิษทางอากาศอย่างเป็นระบบ ผ่าน 4 กลไกสำคัญ ได้แก่ นโยบาย ปัญญา สังคม และการสื่อสาร พร้อมผลักดันร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด เพื่อสร้างแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม

“การแก้ปัญหา PM2.5 ต้องทำอย่างเป็นระบบและตรงจุด” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว “รายงาน ‘จากไฟป่า สู่ไฟเกษตร’ จะช่วยเปิดมุมมองข้อเท็จจริง เพื่อเป็นแนวทางกำหนดนโยบายที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่”

ท้้งนี้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็ม หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://resourcecenter.thaihealth.or.th