![](https://files.ejan.co/wp-content/uploads/2025/02/1738990227_619317-ejan-768x402.jpg)
หลังจากกรณีเกิดการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าเข้าสู่วัว ในหลายพื้นที่ของภาคอีสาน ทำให้เกิดความกังวลว่า การบริโภคเนื้อวัวหลังจากนี้จะปลอดภัยอยู่หรือไม่? ล่าสุดรองโฆษกรัฐบาล ได้ออกมาเปิดเผยถึงประเด็นดังกล่าวแล้ว
![](https://files.ejan.co/wp-content/uploads/2025/02/1738990174_659072-ejan.jpg)
วันนี้ (8 ก.พ.68) นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากปัญหาในปัจจุบันที่ตรวจพบการระบาดโรคพิษสุนัขบ้าในบางพื้นที่ ล่าสุดยังไม่พบรายงานการแพร่ระบาดจากโคสู่โคร่วมฝูง หรือสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์แต่อย่างใด
โดยข้อมูลการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าย้อนหลัง 5 ปี พบการติดเชื้อในโคกระบือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 26 ตัวต่อปี คิดเป็น 10 – 15% ของจำนวนสัตว์ที่พบติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าทั้งหมดในประเทศไทย โดยมีสาเหตุการติดเชื้อมาจากการถูกสุนัขกัด ซึ่งพบมากในแถบภาคอีสานและใต้ของประเทศไทย
![](https://files.ejan.co/wp-content/uploads/2025/02/1738989889_274824-ejan-1024x637.jpg)
นายอนุกูล กล่าวต่อว่า ขณะนี้กรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าอย่างเข้มงวด ดังนี้
1. ลงพื้นที่สอบสวนโรคทันที เมื่อพบการระบาด
2. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สุนัขและแมวทุกตัว รอบจุดเกิดโรค
3. ติดตามหาคนหรือสัตว์ที่ถูกกัด ภายในรัศมี 5 กิโลเมตร จากจุดเกิดโรค
4. กักสัตว์ที่ถูกกัดหรือสัมผัสเชื้อ รวมถึงโคกระบือในฝูงที่พบโรค เพื่อดูอาการ 15 วัน พร้อมฉีดวัคซีน
5. จับกุมสุนัขจรจัดในพื้นที่ต้องสงสัย เพื่อนำมากักดูอาการ ทำหมัน และฉีดวัคซีน
6. ประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราว เป็นเวลา 30 วัน และเฝ้าระวังโรคต่อเนื่องนาน 6 เดือน
7. ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชน เรื่องการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า
![](https://files.ejan.co/wp-content/uploads/2025/02/1738990196_697895-ejan.jpg)
“ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกประกาศเตือนว่า การรับประทานเนื้อโคที่ติดเชื้อโดยไม่ผ่านการปรุงสุก อาจมีความเสี่ยงต่อการติดโรคพิษสุนัขบ้า ดังนั้น หากมีการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อ ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยด่วน อย่างไรก็ตาม โอกาสติดเชื้อจากการสัมผัสหรือบริโภคเนื้อดิบถือว่าค่อนข้างน้อย” นายอนุกูลกล่าว