

Service Charge คืออะไร ?
“เซอร์วิสชาร์จ (Service Charge) หมายถึง ค่าบริการที่ผู้ประกอบร้านค้าคิดเพิ่มจากผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการ โดยรายได้ส่วนหนึ่งนำมาแบ่งให้แก่พนักงานบริการในแต่ละเดือน ถือเป็นรายได้ส่วนหนึ่งของพนักงานบริการ
ซึ่งการเรียกเก็บ service charge ตามกฏหมายกำหนด โดยกรมการค้าภายในดูแลอัตราค่าบริการเซอร์วิส ชาร์จ ให้เป็นไปอย่างเป็นธรรม ซึ่งปกติจะเรียกเก็บที่อัตรา 10% ของมูลค่าอาหารที่ใช้บริการในแต่ละครั้ง แต่หากเรียกเก็บสูงเกินกว่านี้ อาจเข้าข่ายคิดค่าบริการสูงในอัตราเกินสมควร ซึ่งจะมีโทษปรับ 140,000 บาท จำคุก 7 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และร้านค้าจะต้องแสดงราคาต่อหน่วย เป็นตัวเลขภาษาใดก็ได้ ติดป้ายทุกอย่าง ไม่ใช่เพียงราคา ข้อความต้องเป็นภาษาไทย เห็นได้ชัดเจน และอ่านได้ง่าย เพื่อให้ผู้บริโภคทราบก่อนตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า หรือใช้บริการ

Service Charge ต่างจาก Tip อย่างไร ?
จากข้างต้านเมื่อเข้าใจความหมาย Service Charge แล้วว่าคือค่าบริการพิเศษที่ผู้ประกอบธุรกิจเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกสบายต่างๆ ในการรับประทานอาหารในร้าน และรายได้ส่วนหนึ่งนำมาแบ่งเป็นรายได้ให้กับพนักงานทุกคนในแต่ละเดือน ส่วนทิป (Tip) นับเป็นสินน้ำใจที่ลูกค้าให้ด้วยความสมัครใจ ถือเป็นรายได้โดยตรงจากความประทับใจในใจบริการของพนักงานคนนั้นๆ แต่บางร้านก็อาจตั้งเป็น “ทิปรวม” เพื่อความเท่าเทียมของรายได้พนักงานภายในร้านนั้นเอง
Service Charge ไม่จ่ายได้ไหม ?
ถ้าทางร้านและพนักงานให้บริการไม่เป็นที่น่าพอใจ เราเลือกไม่จ่าย Service Charge ได้หรือไม่ แม้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคจะไม่ได้พูดถึงเรื่องเซอร์วิสชาร์จโดยตรง แต่ก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามปกติแล้วกฎหมายที่กรมการค้าภายในควบคุมคือ อัตราการเรียกเก็บ Service Charge ต้องไม่เกิน 10 %เนื่องจากเป็นอัตราราคาที่ลูกค้าส่วนใหญ่รับทราบและยอมรับได้ตามสากล แต่ทางร้านต้องมีการประกาศเรื่องเก็บค่าบริการชัดเจน โดยไม่มีเจตนาปกปิดข้อมูล
อ้างอิงจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 69 พ.ศ. 2565 ข้อ 9 กล่าวว่า ผู้ประกอบการธุรกิจต้องแสดงค่าใช้จ่ายให้ครบถ้วน โดยแสดงค่า Service Charge ควบคู่กับราคาอาหาร เพื่อให้ลูกค้ารับทราบราคาทั้งหมดที่ต้องจ่าย และสามารถตัดสินใจได้ว่าจะใช้บริการหรือไม่ ซึ่งเป็นสิทธิของผู้บริโภค ลูกค้ามีสิทธิ์จะไม่จ่ายค่า Service Charge ได้ก็ต่อเมื่อ ทางร้านแสดงข้อมูลเกี่ยวกับราคาสินค้าและบริการไม่ชัดเจน ฝ่าฝืนมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 คือระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
สรุปได้ว่า การนำเสนอราคาให้ชัดเจนต้องแสดง ‘ราคาต่อหน่วย’ ตัวเลขต้องมี ‘เลขอารบิก’ อยู่ด้วย และข้อความประกาศต้องเป็น ‘ภาษาไทย’ ที่เห็นชัดเจน อ่านง่าย รวมถึงติดป้ายประกาศให้ทราบก่อนล่วงหน้า หากผู้ประกอบการแสดงความชัดเจนเรื่องเซอร์วิสชาร์จกับเราแล้ว คราวนี้เป็นเราเองที่ควรตัดสินใจตั้งแต่ก่อนเลือกเข้าร้านว่ายินดีจ่ายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคพบเห็นร้านค้า/ร้านอาหารที่เก็บเซอร์วิสชาร์จเกิน 10% หรือไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือไม่มีการชี้แจงที่สมเหตุสมผล รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม
สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนราคาสินค้า สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือ สายด่วนสคบ.1166 การส่งต่อเรื่องราวหรือคำเตือนให้กับสังคมก็ถือเป็นสิ่งสร้างให้เกิดความตระหนักรู้ไปถึงเจ้าของห้างร้านเพื่อปรับตัวได้อีกช่องทางหนึ่ง
อ้างอิง : สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, ประมวลรัษฎากร, กรมการค้าภายใน