
“งูสวัด” ที่ไม่ใช่แค่ผื่นแดงที่ตัว แต่อาจอันตรายมากกว่านั้น! #ใครเคยเป็นเเล้วบ้าง
เมื่อวันที่ 19 เม.ย.68 ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ของ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศูนย์ความเป็นเลิศ ด้านการแพทย์บูรณาการและสาธารณสุข และที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ออกมาโพสต์ให้ความรู้และเตือนภัยเกี่ยวกับ “โรคงูสวัด” ที่อาจมีอันตรายอีกมากที่นอกเหนือจากการเป็นผื่นแดงที่ขึ้นตามตัว โดยระบุข้อความว่า…

“งูสวัดมีเรื่องอันตรายอีกเยอะนอกจากผื่น
-ในตำแหน่งหน้า ศีรษะ คอ บ่าไหล่ ไม่ว่าจะอายุเท่าไร หรือ ภูมิคุ้มกันปกติก็ตาม เป็นเรื่องต้องให้การรักษาทันที โอกาสไวรัสลามเข้าสมองผ่านทางเส้นเลือดสูงมาก ถ้ามาช้าและเริ่มผิดปกติมากกว่าที่ผิวหนัง มีไข้ ปวดหัว ไม่ต้องรอให้โคม่าหรือตาบอดหรือเส้นเลือดอักเสบตัน ให้เป็น IV acyclovir 10 mg/kg ทุก 8 ชั่วโมงทันที ไป 14 วัน ในขณะที่ตำแหน่งอื่นอาจใช้เป็นยากินแทน และ acyclovir แม้ว่าต้องกินวันละห้าครั้งทุก 4 ชั่วโมงไปเป็นเวลาอย่างน้อย 7 วันและอาจถึง 14 วัน ประสิทธิภาพดีกว่ายาที่ทาน วันละสองครั้ง เพราะสามารถควบคุมไม่ให้ไวรัสวิ่งย้อนกลับเข้าไปตามเส้นประสาทเข้าในไขสันหลัง หรือสมอง ยกเว้นการมีภูมิคุ้มกันบกพร่องต้องเป็นยาฉีดทั้งหมด
-งูสวัดไม่ว่าอยู่ตำแหน่งใดของร่างกายมีความเสี่ยงอัมพฤกษ์ เส้นเลือดหัวใจตัน ถึง 6 เดือน จนหลายปี ประการสำคัญ การรักษาไม่ใช่พอใจที่ทายาพอกบริเวณที่เป็นผื่น แต่มันอยู่ที่การป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบที่ปมประสาทและจะเจ็บปวดไปหลายเดือน/ปี หรือไม่หาย และเพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสย้อนกลับตามเส้นประสาทเข้าไปที่ไขสันหลัง เกิตขาอัมพาต เข้าสมอง ติดเกิดเส้นเลือดอักเสบ และไวรัสทะลักเข้าไปติดเชื้อในสมอง
-ย้ำๆๆๆ ไม่ว่างูสวัดขึ้นที่ไหนก็ต้องรักษาทั้งนั้น ไม่ใช่เพื่อให้ผื่นหายอย่างเดียว แต่ต้องป้องกันความร้ายแรงกว่านั้นอีกเยอะ
-ในปัจจุบันมีวัคซีนงูสวัดที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงที่เป็นโปรตีนสับยูนิตและสามารถใช้ได้กับคนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ต่างจากวัคซีนยุคแรกที่เป็นเชื้ออ่อนกำลัง แต่อย่างไรก็ตามสารที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันดีมาก จนอาจทำให้มีปฏิกิริยาข้างเคียงระดับน้อยจนรุนแรงแต่ไม่ได้เกิดทุกคน และในบางกรณีเกิดการกระตุ้นทำให้เกิดเส้นประสาทอักเสบได้ ดังนั้นการได้วัคซีน ควรต้องให้แพทย์ให้คำแนะนำ และถ้าเกิดมีปฏิกิริยาข้างเคียงจะได้รีบรักษาได้ทัน
ลักษณะอาการของงูสวัดและผลแทรกซ้อนไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในระยะนั้นอย่างเดียว จะเกิดขึ้นตามหลังได้อย่างน้อยหกเดือนและอาจเป็นปีโดยเฉพาะออกอาการเป็นเส้นเลือดในสมองและเส้นเลือดในหัวใจตัน เพราะฉะนั้นถ้าเกิดมีอาการของเส้นเลือดหัวใจเจ็บหน้าอก หรือเส้นเลือดสมองอัมพฤกษ์ ต้องบอกคุณหมอว่าเคยเป็นงูสวัดในช่วงก่อนหน้า ซึ่งต้องพิจารณาว่าควรต้องรักษางูสวัดควบคู่กันไปด้วย ให้ทางเส้นเลือด ร่วมกับการรักษาสมองหรือหัวใจที่ผิดปกติ
ทั้งนี้เนื่องจากยังมีความเป็นไปได้ว่าไวรัสยังไม่ได้สงบเสงี่ยมนิ่งอยู่กับที่ แต่ยังมีการกระตุ้นการอักเสบอยู่เรื่อยๆ จนเกิดเส้นเลือดหัวใจหรือสมองตัน”
น่ากลัวมากจริงๆค่ะ โรคใกล้ตัวแถมอันตรายมากๆอีก ดูแลสุขภาพให้ดีนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก เพจเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha https://www.facebook.com/share/p/16QRhPKWCi/