แม่ฮ่องสอน รณรงค์การแก้ไขปัญหา หมอกควัน ไฟป่า ตั้งเป้าลด 50%

สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แม่ฮ่องสอน จัดกิจกรรม รณรงค์การแก้ไขปัญหา หมอกควัน ไฟป่า ตั้งเป้าลด ให้ได้ไม่น้อยกว่า 50%

    จังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ณ บริเวณเรือนประทับแรม ศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดำริท่าโป่งแดง ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีนายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานเปิดกิจกรรม พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ภาคเอกชน และเครือข่ายภาคประชาชน เข้าร่วมกิจกรรม

ภาพจากอีจัน

    ซึ่งกิจกรรมรณรงค์ในครั้งนี้ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมกับภาคีเครือข่าย หน่วยงานในพื้นที่ และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักแก่ประชาชนในพื้นที่ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีกิจกรรมที่หลากหลาย ประกอบด้วย การปล่อยขบวนรณรงค์ประชาสัมพันธ์ กิจกรรมการทำแนวกันไฟ และกิจกรรมการเก็บเศษใบไม้ในพื้นที่โดยรอบเรือนประทับแรมท่าโป่งแดง นำมาอัดก้อนเพื่อใช้ประโยชน์
    กิจกรรมการเก็บใบไม้มาใช้ประโยชน์นั้น เป็นการนำเชื้อเพลิงมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อลดต้นทุนการผลิตในภาคเกษตรกรรม ลดรายจ่ายในครัวเรือน สร้างรายได้กลับสู่ชุมชน และเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการเผาป่า สู่การใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน
    โดยการดำเนินงานในปี 2564 เป็นการต่อยอดจากการดำเนินงานในปี 2563 ซึ่งจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดต้นแบบที่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมและประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ปัจจุบันแนวทางดังกล่าวได้ขยายผลต่อเนื่องไปยังพื้นที่ทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ ในรูปแบบการ “ชิงเก็บ ลดเผา”

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

    ทั้งนี้นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ในปี 2563 จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีจุดความร้อนจากไฟป่ากว่า 20,000 จุด ทำให้เกิดหมอกควันในพื้นที่นานถึง 75 วัน มีผู้ป่วยจากหมอกควันมากกว่า 20,000 ราย จังหวัดจึงได้ตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ตามนโยบายของรัฐบาล โดยได้กำหนดให้เป็นวาระเร่งด่วนของจังหวัด พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์อำนวยการฯ ระดับจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในทุกระดับ โดยในปี 2564 ตั้งเป้าลด พร้อมทั้งกำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงานในทุกมิติ เช่น จุดความร้อนสะสม จำนวนวันที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐาน จำนวนพื้นที่เผาไหม้ จำนวนผู้ป่วย เที่ยวบินที่ถูกยกเลิก โดยทุกตัวชี้วัดต้องลดลงจากปี 2563 ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 50%
    ส่วนการเก็บเศษใบไม้นำมาใช้ประโยชน์ หรือการ “ชิงเก็บ ลดเผา” จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้กำหนดเป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของจังหวัดด้วย โดยกำหนดเป้าหมายไว้ไม่น้อยกว่า 100 ตัน และให้ดำเนินการครอบคลุมทุกอำเภอ