ผักกาดดอย ผักกาดวาซาบิ

กลิ่นฉุนชัด ผัดกับหมูสามชั้น เคยกินไหม ผักกาดวาซาบิ

เรื่อง ผักกาดวาซาบิ มันติดค้างอยู่ในใจเราตั้งแต่ ไปโครงการข้าวสารหน้าฝนแล้วค่ะ ขับรถเอาข้าวสารขึ้นไปส่งให้โรงเรียนทุรกันดารบนดอย มีชาวบ้านขับรถผ่าน พูดคุยกันสักพัก เขาก็ส่งผักในกระบุงให้เราจำนวนมาก ตกเย็นทำกับข้าวเอามาผัดน้ำมันใส่หมูสามชั้น กินเข้าไปคำแรกเท่านั้น

ภาพจากอีจัน
พอเราตักเข้าปาก เริ่มเคี้ยวในทีแรก กลิ่นวาซาบิฉุนขึ้นมา เราก็ไม่รู้ว่ามันคือผักอะไร เลยเรียกตั้งแต่นั้นมาว่า ผักกาดวาซาบิ พอมาถึง โครงการห่มดอยคลายหนาว เป็นโครงการพัฒนาโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารในช่วงฤดูหนาว ซึ่งปีนี้ #สังคมอีจัน เราได้ร่วมกันพัฒนา 3 โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ในพื้นที่ชายขอบ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน คือ บ้านจอปร่าคี บ้านปอหมื้อ และบ้านโกแประ พอเราไปดู แปลงผักของเด็กๆ ก็มีแต่ ผักกาดวาซาบิ
ภาพจากอีจัน
แปลงผักของโรงเรียน ตชด.ไม่ได้เป็นแปลงผักแค่พอให้นักเรียนมีกับข้าวกินในแต่ละมื้อเท่านั้นนะคะ บนดอยไม่มีผักอะไรนอกจากพริกที่ชาวบ้านปลูกขายเป็นอาชีพ บางดอยก็ปลูกไม่ได้ มีก็หน่อไม้ที่เก็บและดองไว้เพื่อกินตลอดทั้งปี นอกนั้นก็ผักป่าที่มีบ้างไม่มีบ้าง แปลงผักของโรงเรียนจึงมีความสำคัญต่อเด็กๆ และชาวบ้านในชุมชนรอบๆ ไม่ใช่การกินแต่ ผักกาดวาซาบิ เท่านั้น เด็กที่นั่นดูภายนอกแข็งแรงนะคะ แต่คุณครูบอกว่าเกือบทุกคนขาดสารอาหาร
ภาพจากอีจัน


ทำอย่างไร ? นักเรียนและชาวบ้านจะมีผักกินตลอดทั้งปี และทำอย่างไรจะมีผักกินหลายๆ ชนิด เราคิดถึง เจียไต๋ ตั้งแต่เด็กๆ ก็จำได้ว่าถ้าจะปลูกผัก ต้องไปร้านค้าหาซองๆ ที่มีรูปผัก อยากได้ผักอะไรก็ซื้อมาปลูก ขึ้นได้ง่ายๆ เราได้คุยกับ เจียไต๋ และแจ้งถึงปัญหาที่เราพบ เขาถามเราว่า

“ต้องการเมล็ดพันธุ์เท่าไหร่?”
“ไม่รู้ว่าขนาดไหนถึงพอค่ะ ช่วยคำนวณให้หน่อยได้ไหมคะ อยากให้นักเรียน 3 โรงเรียน จำนวนประมาณ 500 คน ได้มีแหล่งอาหารผักยั่งยืนกินตลอดทั้งปี”

ภาพจากอีจัน
แจ้งความต้องการไปเท่านั้น ก็ดีใจที่ เจียไต๋ ตอบรับจะช่วยเหลือในทันที วันไปรับของ ก็เห็นว่าเป็นลังเล็กๆ ไม่กี่ลัง แต่พอมาเปิดดู และลองเอาไปเพาะเมล็ดแล้ว โอโห ! แค่กระป๋องเดียว เมล็ดผักจิ๋วๆ บรรจุเต็มแบบไม่รู้จะนับยังไงถ้วน นึกในใจ ไม่ใช่แค่กินได้ทั้งปีแล้ว นี่มันคงทั้งชาติ แล้วก็เป็นร้อยกระป๋อง ก็ดีใจกันทั้งเด็ก ทั้งครู ชวนกันเพาะเมล็ดสนุกสนาน ผักคะน้า ผักชี ขึ้นช่าย ผักกาดขาวปลี กระหล่ำปลี มะเขือยาว พริกหนุ่มเขียว ฯ ต่อไปนี้คงไม่ได้มีเฉพาะ ผักกาดวาซาบิ
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน



คุณครูเล่าว่า ปกติแล้วแปลงผักของโรงเรียนที่ตั้งใจทำมาแต่แรกคือ เป็นในรูปแบบสหกรณ์ มอบหมายให้นักเรียนรุ่นพี่ชั้น ป.5 ป.6 ได้รับผิดชอบดูแลคนละแปลง เมื่อผักโตก็เก็บมาขายให้กับสหกรณ์ เข้าโครงการอาหารกลางวัน แบ่งสัดส่วนระหว่างนักเรียนผู้ปลูกกับสหกรณ์เพื่อปันผลปลายปี ชาวบ้านก็มาซื้อผักได้ หรือถ้าผักมีมากพอ ก็แจกจ่ายนักเรียนนำกลับไปให้ผู้ปกครองที่บ้านด้วย

ชื่นใจกับแปลงผักใหม่
ขอบคุณ เจียไต๋ นะคะ