อนุทิน ประกาศนโยบาย โรคมะเร็ง รักษาได้ทุกที่ ที่มีความพร้อม

อนุทิน ประกาศ บรรจุ โรคมะเร็ง เข้านโยบาย 30บาท รักษาได้ทุกที่ ที่มีความพร้อม เริ่ม 1 ม.ค. 64

เมื่อวานนี้ (24 พ.ย. 63) ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กทม. นาย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงนโยบาย “ มะเร็ง รักษาได้ทุกที่ ที่มีความพร้อม ” ว่า รัฐบาล ต้องการพัฒนาคุณภาพการให้ บริการด้านการแพทย์ และ สาธารณสุข เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน และวางรากฐานให้ระบบ หลักประกันสุขภาพ ครอบคลุมทุกภาคส่วน ลดความเหลื่อมล้ำของระบบบริการ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรค มะเร็ง ให้ได้รับการบำบัดรักษาโดยเร็ว ลดความเจ็บปวด หรือประคับประคองให้มีชีวิตอย่างมีคุณภาพ ไม่ทุกข์ทรมาน ที่ผ่านมาก็มีนโยบายหลายเรื่อง เช่น การใช้สารสกัดกัญชา หรือก่อนหน้านี้ รัฐบาล ได้อนุมัติงบประมาณให้กับ โรงพยาบาลศูนย์ และ โรงพยาบาลทั่วไป ในทุกเขตสุขภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วย มะเร็ง และอนุมัติงบประมาณ 1,013 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องฉายรังสี จำนวน 7 เครื่อง ส่งมอบให้ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และโรงพยาบาลอีก 6 แห่งกระจายทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อลดการรอคอยการรักษา ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยอยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดหา และล่าสุดได้บูรณาการความร่วมมือระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลรามาธิบดี และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ด้านการบริการการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home Chemotherapy) สำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ให้ได้รับยาเคมีบำบัดได้โดยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล

ภาพจากอีจัน



นาย อนุทิน กล่าวต่อว่า จากการขับเคลื่อนดังกล่าว ทำให้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศนโยบาย “ มะเร็ง รักษาได้ทุกที่ ที่มีความพร้อม ” ยกระดับ หลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ เพื่อให้ผู้ป่วย มะเร็ง เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพและมีความพร้อม ไม่แออัด และผู้ป่วยในไม่ต้องใช้ใบส่งตัวอีกต่อไป ซึ่งเป็นการบริหารจัดการระบบเพื่อสนับสนุนให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่าอย่างเหมาะสม ทั้งกรณีส่งต่อภายในเขตสุขภาพ หรือข้ามเขตสุขภาพ รวมทั้งมอบให้กรมการแพทย์ พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนระบบการส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยและระบบบริหารจัดการ ผู้ป่วย มะเร็ง ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม บริการไร้รอยต่อ รวดเร็ว ลดเวลารอคิว

ภาพจากอีจัน
โดยจะเริ่มในวันที่ 1 ม.ค. 2564 และนำไปสู่การให้คนไทยรักษาโรคได้ทุกที่ต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ จะมีการใช้นโยบายอื่นๆ มาสนับสนุนให้เกิดความสำเร็จ เช่น นโยบายคนไทยทุกคนมีหมอประจำตัว 3 คน ที่ช่วยให้เกิดการคัดกรอง ไม่ใช่ทุกคนที่ป่วยจะต้องมาโรงพยาบาลทั้งหมด รวมถึงการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการโรงพยาบาลทุกระดับ มีระบบส่งต่อที่มีคุณภาพ นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาให้บริการ เป็นต้น
ภาพจากอีจัน
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วย มะเร็ง รายใหม่ปีละ 122,757 ราย และเสียชีวิตปีละ 80,665 ราย เมื่อ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศนโยบาย “ มะเร็ง รักษาได้ทุกที่ ๆ มีความพร้อม ” กรมการแพทย์ โดยสถาบัน มะเร็ง แห่งชาติ จึงได้พัฒนาโปรแกรม Thai Cancer-based เป็นเครื่องมือช่วยให้การส่งต่อข้อมูลผู้ป่วย มะเร็ง ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้แพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยได้แบบไร้รอยต่อ รวมทั้งพัฒนาแพลทฟอร์ม The ONE ช่วยสืบค้นข้อมูลและประเมินศักยภาพการให้บริการของโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ โดยโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ สามารถจองคิวการตรวจทางรังสีวินิจฉัย จองคิวการรักษาด้วยรังสีรักษาและเคมีบำบัดผ่านแพลทฟอร์มนี้ได้โดยตรง นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาโปรแกรม DMS Bed Monitoring เพื่อใช้บริหารจัดการเตียง รวมทั้งพัฒนาแอปพลิเคชั่น DMS Telemedicine ที่ใช้นัดคิวเพื่อขอรับคำปรึกษาทางไกลจากแพทย์ (Tele-Consult) ในการนัดรับยา และติดตามการรับยาทางไปรษณีย์
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน