รมว.ยุติธรรม ลั่น ปมตรวจยาเค 11 ตัน ? เป็นเรื่องใหม่ทางวิชาการ

“ สมศักดิ์ ” รมว.ยุติธรรม ลั่น ปมตรวจยาเค 11 ตัน ? เป็นเรื่องใหม่ทางวิชาการ พร้อม ตรวจสอบละเอียดอีกครั้ง

จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวการจับกุมยาเสพติด 11.5 ตัน ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยครั้งแรกมีการสื่อสารว่า “ อาจเป็นการจับยาเคล็อตใหญ่ ” แต่ผลการตรวจสอบชุดหลังมีผลว่าบางส่วนเป็นสารไตรโซเดียมฟอสเฟต

ล่าสุดวันนี้ (24 พ.ย. 63) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เผยว่า จากความคลาดเคลื่อนของผลการตรวจสอบสารเคมีน้ำหนักรวมกว่า 11 ตัน โดยมีผลยืนยันผลการตรวจสอบชุดหลังจากห้องทดลองปฏิบัติการว่า “ เป็นสารไตรโซเดียมฟอสเฟต ” จึงทำให้ต้องเชิญ 3 หน่วยงาน คือ ป.ป.ส. / กองพิสูจน์หลักฐาน และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เข้าตรวจสอบยืนยันอย่างละเอียดอีกครั้งว่าของกลางทั้งหมดเป็นยาเสพติดหรือไม่ ซึ่งอาจจะใช้เวลากว่า 2 สัปดาห์ โดยเสนอให้รอบแรกแบ่งตรวจสอบของกลางเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เบื้องต้นในสัปดาห์นี้ ส่วนที่เหลือค่อยทยอยตรวจสอบภายหลังให้ครบทุกหน่วยงาน

ทลายรัง โกดังแปดริ้ว ! ยึด ” ยาเค ” ล็อตมหึมา มูลค่ากว่า 2.8 หมื่นล้านบาท

ส่วนผลความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องใหม่ทางวิชาการ เพราะสารดังกล่าวเมื่อนำเข้าชุดตรวจสอบแล้ว ได้ผลลัพธ์ว่า “ อาจเป็นสารเสพติด ” หลังจากนี้คงต้องมีการสัมมนาเชิงวิชาการ เพื่อหาข้อสรุปจากความผิดพลาดต่อไป

ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า กรณีการตั้งชุดคณะกรรมการ ตรวจสอบการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หากการวิพากษ์วิจารณ์ระบุแค่เฉพาะตัวรัฐมนตรี หน่วยงานกระทรวงยุติธรรม หรือ ป.ป.ส. ก็พร้อมยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ แต่ไม่ควรเชื่อมโยงหรือพาดพิงถึงบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งเรื่องนี้ต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบก่อนการดำเนินคดีตามกฎหมาย และหลังจากที่จบเรื่องนี้ทั้งหมด ก็จะมีการพิจารณาอีกครั้งว่า ต้องดำเนินการหรือมีบทลงโทษใดกับทางเจ้าหน้าที่ด้วยหรือไม่

ส่วนเรื่องการสร้างความมั่นใจกับประชาชน ยอมรับว่าในระยะนี้อาจมีผลกระทบอยู่บ้าง แต่ก็เชื่อว่าเป็นเพียงส่วนน้อย และการตรวจสอบหาสารเสพติดต่าง ๆ ก็ต้องมีการตรวจพิสูจน์ซ้ำอย่างละเอียดเพื่อป้องกันความผิดพลาด

ด้านตัวแทนของ ป.ป.ส. ยืนยันว่า วันที่มีการตรวจสอบของกลาง มีการใช้ชุดทดสอบจาก 2 หน่วยงาน คือ ของ ป.ป.ส. และกองพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งผลลัพธ์ออกมาสอดคล้องกันว่า “ อาจเป็นยาเสพติด” อีกทั้งที่มาของคดีเกิดจากการจับกุมยาเสพติดในประเทศไต้หวัน และบ่งชี้ว่า ของกลางมาจากการเก็บรักษาในจังหวัดฉะเชิงเทรา ทำให้เข้าใจว่าของกลางที่ตรวจพบเป็นยาเสพติดจริง

อย่างไรก็ตาม ในการแถลงข่าวครั้งนั้น ได้ใช้การตั้งข้อสังเกต และระบุชัดเจนว่า ของกลางที่ตรวจพบอาจเป็นเคตามีน ส่วนสารไตรโซเดียมฟอสเฟต แม้ว่าจะมีลักษณะทางกายภาพคล้ายกับเคตามีน แต่ยืนยันว่า “ไม่สามารถนำไปใช้สกัดเป็นสารตั้งต้นยาเสพติดได้” และหากนักวิชาการอะไรใด ที่สนใจอยากขอตรวจสอบของกลางซ้ำ ก็สามารถติดต่อไปที่ ป.ป.ส. ได้