กอร.ฉ. แจงเหตุสั่งปิดแพลตฟอร์มออนไลน์วอยซ์ทีวี เป็นไปตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

กอร.ฉ. เผยคำสั่งศาล ปิดแพลตฟอร์มออนไลน์วอยซ์ทีวี เป็นไปตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนอีก 3 สื่อ รอตรวจสอบ เผยถ้ามีโอกาส นายกฯอยากคุยกับสื่อโดยตรง เพื่อการนำเสนอไปทิศทางเดียวกัน

หลังจากเมื่อวานนี้ 20 ต.ค. 2563 มีคำสั่งจากปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส แถลง ศาลมีคำสั่งให้ปิดทุกช่องการเผยแพร่สื่อออนไลน์ของ “วอยซ์ทีวี” แต่ทางวอยซ์ได้ออกมาชี้แจงว่ายังไม่ได้รับคำสั่งศาล พร้อมยืนยัน 11 ปีที่ผ่านมา ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย

วอยซ์ทีวียัน ยังไม่ได้รับคำสั่งศาล ตลอด 11 ปี ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย


ล่าสุดวันนี้ 21 ต.ค.2563 กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ) แถลงสถานการณ์การชุมนุมและได้พูดถึงประเด็นดังกล่าว
โดย กัญญ์ณาณัฏฐ์ ภาธรสืบนุกูล โฆษก กอร.ฉ. ได้ชี้แจงว่า หลังจากมีคำสั่งออกมาจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในการให้สื่อออนไลน์ 4 สื่อระงับการออกอากาศ ให้กระทรวงดีอีเอส และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบว่าทั้ง 4 สื่อคือ วอยซ์ ทีวี, ประชาไท, The Standard, The Reporter ว่ามีการนำเสนอข้อมูลหรือข้อความอะไร ที่ผิดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หรือไม่

ภาพจากอีจัน


ซึ่งเมื่อวานนี้ก็มีการพูดถึงคำสั่งศาลที่สั่งปิดทุกแพลตฟอร์มของวอยซ์ทีวี ก็มีกระแสกันขึ้นมา จนกระทั่งหลังจากเสร็จจากการประชุม ครม.นายกฯก็ได้ออกมาพูดกับสื่อมวลชนไปแล้ว ซึ่งวันนี้ก็ออกมาย้ำอีกครั้งว่า นายกฯเองเป็นห่วง และไม่ต้องการที่จะปิดกั้นการทำงานของสื่อมวลชนแต่อย่างใด หากสื่อมวลชนนำเสนอข้อมูลบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและไม่ผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินตาม พ.ร.บ.คอมฯ นั้นหมายถึงจะต้องไม่ยั่วยุ ปลุกปั่น ไม่หมิ่นสถาบัน
ซึ่งนายกฯได้บอกว่า วอยซ์ก็ว่ากันไปตามการตรวจสอบ ส่วนอีก 3 สื่อที่เหลือ ประชาไท, The Standard, The Reporter เดี๋ยวขอไว้ก่อน ขอให้หน่วยงานต่างๆได้ไปทบทวน นายกฯมีความอยากพูดคุยกับสื่อมวลชนโดยตรง เพื่อจะได้สร้างความเข้าใจร่วมกัน ว่าในสิ่งที่เราจะนำเสนอนั้น ควรจะไปทิศทางไหนแบบไหน เพื่อสร้างความสงบสุขให้สังคมไทย ผ่านสื่อมวลชน

ภาพจากอีจัน