จิตแพทย์วิเคราะห์ 22 ข้อ เหตุครูทำร้าย นร.อนุบาล

เด็กที่อยู่ในเหตุการณ์ “ครูทำร้าย นร.อนุบาล” ก็ได้รับผลกระทบทางจิตใจ จิตแพทย์วิเคราะห์ 22 ข้อคิดจากข่าว

“หมอมินบานเย็น” จิตแพทย์เด็กผู้เป็นแอดมินเพจ #เข็นครกขึ้นภูเขา ได้วิเคราะห์ 22 ข้อ จากข่าวเหตุการณ์ครูทำร้ายนักเรียนชั้นอนุบาลวัย 3 ขวบ ไว้แบบนี้ค่ะ

ภาพจากอีจัน
วันนี้มีข่าวที่หมอเห็นแล้วรู้สึกเป็นห่วงและสะเทือนใจ หมอจึงอยากมาแบ่งปันข้อคิดเพื่อให้เรียนรู้ร่วมกัน 1. จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม สิ่งที่เห็นในคลิปที่เกิดขึ้นสำหรับเด็กอายุ 3 ขวบ ครูทำเด็กต่อหน้าเพื่อนๆ (ตบหัว จิกหัว ผลักเด็กลงพื้น บิดหู) จนนำมาสู่การแจ้งความของผู้ปกครอง การกระทำของครูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เป็นการกระทำที่รุนแรงเกินไป 2. ผู้ใหญ่บางคนคิดว่าการทำร้าย ทำโทษเด็กรุนแรง เป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะต้องการจะสั่งสอนเด็ก แต่การทำรุนแรงเกินไป จะทำให้มีผลกระทบทางกายและจิตใจแน่นอน 3. ตรงนี้ไม่เพียงแต่เกิดผลกระทบเป็นบาดแผลทางร่างกาย แต่ส่งผลถึงจิตใจเด็ก นอกจากเด็กที่ถูกกระทำโดยตรง เด็กที่อยู่ในเหตุการณ์ก็ได้รับผลกระทบทางจิตใจด้วย 4. หลายครั้งที่หมอเคยตรวจเด็กที่พ่อแม่พามาหาเพราะมีความเครียด จากการอยู่ในเหตุการณ์ที่เพื่อนถูกครูทำโทษรุนแรง เด็กก็เกิดความเครียดเช่นกัน 5. จริงๆ แล้วเหตุการณ์ที่เห็นไม่ใช่ครั้งแรกที่เด็กๆ ถูกผู้ใหญ่กระทำรุนแรงอย่างไม่เหมาะสม มีผู้ปกครองพาเด็กมาตรวจด้วยเรื่องนี้เป็นระยะ บางทีก็เป็นจากพ่อแม่ จากผู้ปกครองเอง และครูที่สอน
ภาพจากอีจัน
6. จากประวัติที่คุณพ่อของเด็กที่ถูกกระทำ เล่าว่าเด็กมีอาการฝันร้าย ผวา ไม่อยากไปโรงเรียน เป็นสิ่งที่พบได้ในเด็กที่ผ่านพ้นเหตุการณ์ความรุนแรงที่มีผลต่อจิตใจ เช่นเหตุการณ์ที่ถูกครูทำรุนแรง 7. ยิ่งเป็นเด็ก ความพร้อมทางจิตใจก็ยิ่งไม่เหมือนผู้ใหญ่ เด็กเล็กบางครั้งยังเล่าอะไรไม่ได้ชัดเจน เพราะพัฒนาการทางภาษายังไม่ดี ผู้ปกครองจึงต้องมีความเข้าใจอาการแสดงของเด็กที่มีความเครียดจากการประสบเหตุการณ์มีลักษณะคุกคามจนทำให้กลัวอย่างมาก 8. อาการที่พบได้คือ เด็กจะรู้สึกเหมือนประสบเหตุการณ์นั้นอยู่เรื่อยๆ เช่น นึกถึง เห็นภาพ ได้ยินเสียง ทำให้ไม่สบายใจอย่างมาก แต่ก็หยุดนึกถึงไม่ได้ ถ้าเป็นเด็กเล็ก อาจจะพูดบอกไม่ได้ชัดเจน แต่เด็กเล็กจะแสดงออกถึงความไม่สบายใจผ่านการเล่น วาดรูป เด็กอาจจะเล่นซ้ำๆ เป็นธีมที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เจอมา 9. เด็กบางคนอาจจะแสดงออกมาในรูปแบบอาการทางกาย เช่น ปวดท้อง ปวดหัว ใจสั่น เวลาที่มีอะไรที่ทำให้คิดถึงเหตุการณ์นั้นๆ 10. เด็กอาจมีอาการกลัวการแยกจาก ไม่ยอมไปโรงเรียน ติดคนที่ดูแลมากขึ้น ร่วมกับมีพฤติกรรมถดถอยเหมือนกลายเป็นเด็กอีกครั้ง บางคนปัสสาวะรดที่นอน
ภาพจากอีจัน
11. เด็กมีอาการตื่นกลัว ตกใจง่าย บางคนนอนไม่หลับ มีนอนสะดุ้ง ละเมอ บางคนอาจจะมีพฤติกรรมเปลี่ยน อารมณ์หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าวขึ้น หรืออาจจะไม่ค่อยมีสมาธิในการเรียน การเรียนตกลง 12. หากมีการถูกกระทำบ่อยๆ รุนแรงและเป็นระยะเวลายาวนาน ผลกระทบก็จะยิ่งมากขึ้น ซึ่งอาจพบได้ทั้งผลกระทบระยะต้นและระยะยาว มีผลต่อคุณค่าในตัวตน มุมมองที่มีต่อตัวเองและคนรอบข้าง มีความคิดลบ มีปัญหาสุขภาพจิตเช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า ในอนาคตได้ 13. หากพบว่าเด็กมีอาการดังกล่าว เบื้องต้นควรจะทำความเข้าใจ มองหาสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด ถ้าไม่แน่ใจควรหาข้อมูลเพิ่มเติม เช่น จากครู จากเพื่อนๆ (ที่หมอพบมักจะเป็นเรื่อง เพื่อนแกล้ง บุลลี่กัน ปัญหากับครู แต่เด็กมักไม่ได้บอกตรงๆ หรือบอกแล้วพ่อแม่คิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่) 14. ในเด็กที่ถูกกระทำ ผู้ใหญ่ทำให้เด็กรู้สึกและมีความปลอดภัย รอดพ้นจากการถูกกระทำ ให้ความมั่นใจ และหากไม่ดีขึ้น เป็นมากขึ้นควรพาเด็กไปรับการประเมินจากจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น 15. สำหรับในส่วนของผู้ใหญ่ที่ต้องดูแลเด็กๆ (ตรงนี้พบทั้งครู พ่อแม่ ผู้ปกครองเลยค่ะ) มักจะพบว่าผู้ใหญ่เหล่านั้นที่ทำเด็กรุนแรง มักมีปัญหาการควบคุมอารมณ์ไม่ดี มีความเครียดส่วนตัวที่จัดการไม่ได้ อาจมีประสบการณ์ถูกทำรุนแรงมาก่อน อาจมีปัญหาสุขภาพจิตอยู่เดิม วิตกกังวล ซึมเศร้า อาจเครียดมากกับพฤติกรรมเด็กที่จัดการไม่ได้ ทำให้เกิดเป็นการลงมือกับเด็กอย่างรุนแรง เมื่อเด็กทำพฤติกรรมไม่ดี ไม่ถูกใจผู้ใหญ่
ภาพจากอีจัน
16. หมอคิดว่าในการเป็นผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กๆ มีความจำเป็นต้องมีความพร้อม ตระหนักเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก ของตัวเอง ถ้ามีปัญหาอย่าปล่อยทิ้งไว้ ควรจะจัดการ มิฉะนั้นอาจจะเกิดผลกระทบกับเด็กๆ ที่เราดูแลอยู่ก็ได้ ถ้าแก้เองไม่ได้ ควรหาตัวช่วย หรือไปพบจิตแพทย์เพื่อขอความช่วยเหลือ เพื่อความพร้อมที่จะไปดูแลคนอื่น โดยเฉพาะเด็กๆ 17. สิ่งที่สำคัญเช่นกัน ก็คือ ผู้ใหญ่ที่เห็นการกระทำความรุนแรงต่อเด็กไม่ควรเพิกเฉย และควรมีความตระหนัก ไม่ควรคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ 18. ในคลิปนั้น หมอเห็นว่ามีผู้ใหญ่อื่นๆ ที่อยู่ในคลิปด้วย แต่ไม่มีใครที่เข้าไปช่วยเหลือเด็กเลย ซึ่งตรงนี้เขาอาจมีเหตุผลที่หมอไม่ทราบ แต่หมอก็รู้สึกสะเทือนใจบอกไม่ถูก 19. เวลาเด็กมาเล่าเรื่องต่างๆ ให้ผู้ปกครองฟัง ควรรับฟัง ซักถาม มีเวลาให้เขา ให้ความสำคัญ 20. ควรพูดคุยกับเด็กถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในแต่ละวันให้เป็นกิจวัตรประจำวัน เช่นว่า วันนี้สิ่งที่เจอที่โรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง มีคนมาแกล้งเขาไหม หรือมีเพื่อนไปแกล้งคนอื่นหรือเปล่า ครูเป็นอย่างไร คุยให้เป็นเรื่องปกติ (ซึ่งตรงนี้การจะพูดคุยได้พ่อแม่ต้องมีเวลาให้เขา)
ภาพจากอีจัน
21. อย่าให้เหตุการณ์นี้กลายเป็นการเหมารวมในการตำหนิคุณครูทุกคน เพราะครูก็เหมือนทุกอาชีพ มีดีและไม่ดี แตกต่างหลากหลาย หมอเคยคุยกับคุณครูที่มีจิตวิญญาณความเป็นครูที่ดูแลเด็กด้วยความรักและเอาใจใส่หลายๆ คน 22. จุดประสงค์ที่เขียนบทความเพราะอยากให้เกิดความตระหนัก ขอให้กรณีนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่เด็กๆ จะถูกกระทำรุนแรงอย่างไม่เหมาะสมนะคะ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกๆ คนค่ะ ขอบคุณข้อมูล FB : เข็นครกขึ้นภูเขา