เคยเจอไหม? ไรไข่ปลาบนเห็ด

อ.เจษฎา ชี้ เม็ดใสๆบนเห็ดหูหนูที่คนสงสัย คือ ไรไข่ปลา อย่าชิม อย่ากิน อาจติดเชื้อโรค


(22 ก.ย. 63) แฟนเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพโพสต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ที่ได้โพสต์รูปเห็นหูหนูที่นำมาเพาะเองในกล่องพลาสติก แต่มีเม็ดใสๆขึ้นมาบนเห็ด บีบแตกได้ ชิมแล้วไม่มีรสชาติ อยากรู้ว่ามันคืออะไร?

ภาพจากอีจัน
โดย อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายไขข้อสงสัยดังกล่าวนี้ ว่า เม็ดใสๆที่เกิดขึ้นบนเห็ดหูหนูนั้น มันคือ ไรไข่ปลา บนเห็ดหูหนู ระบุว่า “ตอนแรก สมาชิกท่านอื่นบางท่านเข้าใจว่า อาจจะเป็นไข่ของหอยทาก มาวางไข่ไว้ แต่ไข่ของหอยทาก ปกติจะสีขาวขุ่นๆ ไม่ใช่ใสแบบนี้ และเจ้าของโพสต์บอกว่าเป็นกล่องที่ปิดมิดชิด ไม่น่าจะมีอะไรเข้ามาได้ คำตอบที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่า ก็คือ เป็น "ไรไข่ปลา" สัตว์จำพวกไร (mite) อีกชนิดหนึ่ง ที่พบว่าเป็นศัตรูสำคัญของการเพาะเลี้ยงเห็ดหูหนู โดยมันอยู่ในระยะที่กำลังกินอาหาร และตั้งท้อง กำลังจะออกลูก เลยดูลักษณะเป็นเม็ดกลมใส คล้ายไข่ปลา เท่าที่หาข้อมูล ไม่พบว่ามันมีพิษอะไรที่คนกินเข้าไปจะเป็นอันตราย แต่ก็คงไม่น่าจะเอามากิน เพราะก็อาจจะมีเชื้อโรคติดมากับตัวมันก็ได้ จึงไม่ควรชิมเล่นครับ” ทั้งนี้ อ.เจษฎา ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับไรไข่ปลาอีกด้วยว่า ไรไข่ปลา หรือ mushroom mite (ชื่อวิทยาศาสตร์ Luciaphorus perniciosus Rack) เป็นศัตรูที่สำคัญมากของเห็ดหูหนู สามารถเข้าทำลายก่อให้เกิดความเสียหายได้ทุกระยะของการเพาะเห็ด ทำให้ผลผลิตลดลงอย่างมาก เนื่องจากเห็ดจะไม่ออกดอก โดยเกาะกินน้ำเลี้ยงทำให้ดอกเห็ดแคระแกรน ไรไข่ปลาสามารถกินเส้นใยเห็ดขอนขาว เห็ดหูหนู เห็ดกระด้าง เห็ดหลินจือและเห็ดเข็มเงิน แต่ไม่สามารถกินเส้นใยเห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เห็ดนางรมภูฏาน เห็ดนางรมฮังการี เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดหอมและเห็ดแครง โดยไรไข่ปลาในระยะก่อนท้อง จะเป็นระยะแพร่พันธุ์ สามารถแพร่กระจายสู่ภายนอกและเข้าทำลายก้อนเชื้อเห็ด เนื่องจากไรมีขนาดเล็กมาก จึงมองเห็นเหมือนฝุ่นละอองเกาะอยู่ทั่วๆไป บริเวณปากถุง และชั้นวางถุงเห็ด เมื่อไรไข่ปลาพบแหล่งอาหาร จะเริ่มเกาะนิ่งบริเวณข้างถุง และตั้งท้องออกลูก มองเห็นเป็นเม็ดใสกลมคล้ายไข่ปลา
ภาพจากอีจัน


วิธีการควบคุม
-ทำความสะอาดตู้เขี่ยเชื้อเห็ด และโรงเรือนให้ปราศจากไรไข่ปลา
-ระวังการปนเปื้อนของไรไข่ปลาในทุกขั้นตอน โดยเฉพาะการผลิตหัวเชื้อเห็ด
-ทำลายก้อนเชื้อที่มีไรไข่ปลา โดยนำไปทิ้งให้ห่างจากโรงเรือน ไม่ให้เป็นแหล่งแพร่พันธุ์
-หากพบว่ามีไรไข่ปลาเข้าทำลายอยู่ในถุงก้อนเชื้อ ให้พ่นสารไพริดาเบน, อะบาเมคติน, ไตรอะโซฟอส ข้อควรระวัง คือ ใช้พ่นในระยะบ่มเส้นใยเท่านั้น เพื่อไม่ให้พิษของสารฆ่าไรตกค้างในดอกเห็ด

ภาพจากอีจัน