ลุ้นยุติ! สหรัฐฯ แบน ติ๊กต็อก

ติ๊กต็อกหวังดีลบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน 3 ฝ่าย ‘ไบต์แดนซ์-ออราเคิล-วอลมาร์ต’ เคลียร์ข้อกังวลด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ

(20 ก.ย. 63) สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (19 ก.ย. 63) ติ๊กต็อก แพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เน้นสร้างและแบ่งปันคลิปวิดีโอ แสดงความหวังว่าข้อตกลงของไบต์แดนซ์ บริษัทแม่ของจีน ที่ทำร่วมกับบริษัทออราเคิลและวอลมาร์ต จะแก้ไขข้อกังวลด้านความปลอดภัยของฝ่ายบริหารสหรัฐฯ รวมถึงคลี่คลายข้อถกเถียงเกี่ยวกับอนาคตของติ๊กต็อกในสหรัฐฯ ได้

บริษัทติ๊กต็อกที่มีสำนักงานใหญ่ในลอสแองเจลิสออกแถลงการณ์เมื่อบ่ายวันเสาร์ (19 ก.ย. 63) ซึ่งทิ้งช่วงหลายชั่วโมงภายหลังจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กล่าวว่า เขาได้อนุมัติข้อตกลงระหว่างทั้งสามฝ่ายแล้ว

ติ๊กต็อกเปิดเผยรายละเอียดบางอย่างเกี่ยวกับข้อตกลงสามฝ่ายที่เสนอให้กับผู้มีอำนาจเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (14 ก.ย. 63) และเพิ่งได้รับการอนุมัติจากทำเนียบขาว โดยกล่าวว่า ออราเคิลจะกลายเป็น “ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีที่เชื่อถือได้” ส่วนวอลมาร์ตจะมีบทบาทในการเป็น “หุ้นส่วนทางการค้า”

ภาพจากอีจัน
วิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุว่า ทรัมป์ได้กำหนดระยะเวลาให้ติ๊กต็อกคลี่คลายข้อกังวลด้านความมั่นคงแห่งชาติจนถึงวันที่ 12 พ.ย. 63 “ถ้าพวกเขาทำได้ ข้อห้ามในคำสั่งนี้อาจถูกยกเลิก” รอสส์กล่าว ทั้งนี้ ตัวแทนติ๊กต็อกกล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ (18 ก.ย. 63) ว่า ทางบริษัทไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และรู้สึกผิดหวังที่กระทรวงจะบล็อกการดาวน์โหลดและอัปเดตแอปพลิเคชั่นตั้งแต่วันอาทิตย์(20 ก.ย. 63) เป็นต้นไป เมื่อวันเสาร์ (19 ก.ย. 63) กระทรวงพาณิชย์ของจีนออกมาแสดงการคัดค้านกับการที่สหรัฐฯ จะบล็อกการดาวน์โหลดแอปวีแชทและติ๊กต็อก พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐฯ หยุดการกลั่นแกล้งดังกล่าวโดยทันที และปกป้องกฎระเบียบระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ของจีนกล่าวในแถลงการณ์ว่า สหรัฐฯ ได้ใช้อำนาจรัฐกดดันบริษัททั้งสองแห่งครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยเหตุผลที่ไม่มีหลักฐานรับรอง ซึ่งทำให้กิจกรรมทางธุรกิจของพวกเขาหยุดชะงักอย่างร้ายแรง ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนระหว่างประเทศในสภาพแวดล้อมการลงทุนของสหรัฐฯ และส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโลกและการซื้อขายสินทรัพย์ทางการเงินโดยทั่วไป แถลงการณ์ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เกิดขึ้นหลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ออกคำสั่งผู้บริหารเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 63 กำหนดห้ามพลเมืองสหรัฐฯ ทำธุรกรรมใดๆ ร่วมกับบริษัทไบต์แดนซ์ โดยมีผลในอีก 45 วันนับจากออกคำสั่ง อีกทั้งยังมีคำสั่งคล้ายคลึงกันมุ่งเป้าไปที่วีแชท ซึ่งบริษัทเทนเซนต์ของจีนเป็นเจ้าของด้วย