ร้านชาบูดัง ขอโทษแล้ว หลังโพสต์รูปคุกคามทางเพศลูกค้า

ร้านชาบูโพสต์ขอโทษ หลังมีดราม่าคอมเมนต์คุกคามทางเพศลูกค้า – ทนายแนะ ผู้เสียหายเอาผิดร้านได้

กลายเป็นประเด็นร้อนบนโลกออนไลน์ เมื่อเพจร้านชาบูร้านหนึ่ง ได้มีการนำภาพของลูกค้า ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กนักเรียนหญิงที่เข้าไปกินอาหารที่ร้าน มาโพสต์ในเพจ ซึ่งต่อมาได้มีผู้เข้ามาคอมเมนต์ในเชิงคุกคามทางเพศ จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก

ภาพจากอีจัน


ล่าสุด (22 มิ.ย. 2563) มีรายงานว่า ทางเพจของร้านชาบูได้โพสต์ข้อความขอโทษ โดยระบุว่า…

“ทางร้านขอโทษคุณลูกค้าเป็นอย่างสูง ทางร้านไม่ได้ต้องการประจาน หรือมีเจตนาไม่ให้เกียรติคุณลูกค้าแต่อย่างใด โดยขณะนี้ทางร้านได้ดำเนินการลบภาพดังกล่าวและกล่าวขอโทษคุณลูกค้าไปแล้วในเบื้องต้น และได้ดำเนินการพิจารณาเลิกจ้าง แอดมินเพจ ผู้กระทำความผิดเป็นที่เรียบร้อย และทางร้านต้องขออภัยคุณลูกค้าทุกท่านที่อยู่ในรูปอีกครั้ง ที่ทำให้ท่านเสื่อมเสียชื่อเสียง ทางร้านขอยอมรับผิดในการกระทำครั้งนี้แต่เพียงผู้เดียว และจะเพิ่มการสอดส่องดูแลเพจให้มีคุณภาพมากขึ้นต่อไปด้วย”

รายงานระบุว่า กลุ่มเด็กนักเรียนในภาพ ได้ตัดสินใจจะเข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับร้านชาบูดังกล่าวด้วย

ภาพจากอีจัน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ถึงกระแสข่าวดังกล่าว โดยทนายรณณรงค์ เผยว่า ในเรื่องของกฎหมายการคุกคามทางเพศเขียนไว้ค่อนข้างกว้าง ซึ่งการคุกคามทางเพศมีตั้งแต่การใช้วาจา ใช้ภาษากาย การอนาจาร การข่มขืนกระทำชำเรา แบ่งแยกย่อยออกไปค่อนข้างเยอะ
ภาพจากอีจัน

ซึ่งในกรณีของเด็กที่ถูกแอดมินเพจทางร้านนำรูปมาโพสต์ ถ้าหากลูกค้าไม่ยินยอม ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ ทำให้อีกฝ่ายเสื่อมเสียชื่อเสียง สามารถฟ้องร้องทางร้านและคนที่โพสต์ได้ เพราะคนที่เข้ามาคอมเมนต์มันออกไปในแนวของการถูกกระทำทางเพศโดยการใช้การสนทนาทางช่องแชทข้อความ ทางการโพสต์ ซึ่งเรื่องนี้เป็นคดีความ

หรือในกรณีที่ลูกค้ายินยอม แล้วปรากฏว่ามีการเข้ามาคอมเมนต์ในลักษณะทางเพศที่ดูแล้วมันน่าจะทำให้ลูกค้าเสียหาย ทางร้านที่เป็นคนนำเข้าข้อมูล ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดความเสียหาย เพราะไม่เช่นนั้นทางร้านเป็นคนเผยแพร่ภาพ เมื่อการเผยแพร่ภาพออกไปทำให้เขาเสียหาย ทางร้านก็ต้องรับผิดชอบ

ซึ่งเรื่องนี้ถ้าหากตัวของนักเรียนไม่สบายใจก็สามารถไปแจ้งความ ลงบันทึกประจำวันได้

ส่วนในเรื่องของข้อความที่มีคนเข้ามาคอมเมนต์ หากมีผู้มาพูดกับกลุ่มน้องโดยตรง และแรงกว่านี้จะเป็นเรื่องของการกระทำการให้ผู้อื่นเดือดร้อนรำคาญ มีโทษปรับทางอาญา แต่การโพสต์ยังไม่ถึงขนาดนั้น แต่ว่าคนที่มาโพสต์ถ้าหากทำให้เขาเสียหายในคดีส่วนแพ่ง สามารถฟ้องเป็นรายบุคคลได้

การโพสต์รูปและข้อความของทางร้าน แม้ว่าจะมีการลบออกไปแล้ว แต่ในมุมหนึ่งความเสียหายมันเกิดขึ้นมาแล้ว อายุความในการฟ้องร้องยังอยู่ในระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่เกิดการกระทำความผิด ถ้าหากกลุ่มนักเรียนประสงค์จะฟ้องร้องต้องฟ้องร้องภายใน 1 ปี ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องทางกฎหมายแพ่ง มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

แต่ถ้าเป็นข้าราชการจะมีระเบียบวินัยของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนฉบับใหม่ที่ประกาศใช้มาได้ประมาณ 2 ปี ถ้าผู้บังคับบัญชาพูดในทำนองดังกล่าวกับผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถร้องเอาผิดวินัยกับหัวหน้างานได้ ฐานคุกคามทางเพศโดยการใช้วาจา แต่กฎหมายฉบับนี้กับกรณีคนทั่วไปยังไม่มี