“ศาลยุติธรรมห่วงใย ฝ่าภัยโควิด” ผุด 4 โครงการ ลดภาระคู่ความ-ประชาชน

ประธานศาลฎีกา เปิดโครงการ “ศาลยุติธรรมห่วงใย ฝ่าภัยโควิด” ลดภาระของคู่ความ และประชาชน ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจช่วงโควิด-19

วันนี้ (15 มิถุนายน 2563) ที่ ห้องประชุมใหญ่ สำนักประธานศาลฎีกา นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เปิดโครงการ “ศาลยุติธรรมห่วงใย ฝ่าภัยโควิด” ผ่านระบบการประชุมทางไกลไปที่ศาลยุติธรรมทั่วประเทศ โดยโครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือ ลดภาระของคู่ความ และประชาชนผู้ใช้บริการศาล ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งโครงการศาลยุติธรรมห่วงใยฯ ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็นโครงการย่อยอีก 4 โครงการดังนี้

ภาพจากอีจัน
– โครงการที่ 1 การงดหรือลดภาระค่าใช้จ่ายของคู่ความในการดำเนินคดี มุ่งเน้นการงดหรือลดภาระค่าใช้จ่ายบางประเภทของคู่ความในการดำเนินคดี ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของคู่ความในการดำเนินคดี และเพิ่มการให้บริการของศาลยุติธรรม ตลอดจนนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของศาล เช่น ลดค่าใช้จ่ายในการส่งคำคู่ความคดีบางประเภท คืนค่าขึ้นศาลเป็นกรณีพิเศษเมื่อพิพากษาตามยอม ส่งสำเนาคำพิพากษาคดีฟรีถึงบ้าน นัดเหลื่อมเวลาเพื่อลดการใช้เวลาในศาล บริการเบ็ดเสร็จ ที่ จุดเดียว (One Stop Service) และจุดรับบริการ Drive Thru รวมถึงส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีแทนการเดินทางมาศาล
ภาพจากอีจัน
– โครงการที่ 2 การพัฒนาระบบการไกล่เกลี่ยออนไลน์ในศาลยุติธรรม มุ่งส่งเสริมให้คู่ความร่วมหาวิธีการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่ทุกฝ่ายยอมรับ และสามารถปฏิบัติได้จริงในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสที่เกิดขึ้น โดยผสมผสานการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสื่อกลางในกระบวนการไกล่เกลี่ยที่จะทำให้คู่ความสามารถเข้าร่วมกระบวนการไกล่เกลี่ยได้ โดยไม่เกิดภาระการเดินทางมาศาลในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสดังกล่าว แต่ยังสามารถคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพในกระบวนการการระงับข้อพิพาททางเลือก ผ่านการจัดโครงการ “ไกล่เกลี่ยจากบ้าน หรือ Mediation from Home” ในศาลทั่วประเทศ พร้อมทั้งจัดทำเพจโครงการเพื่อเป็นสื่อกลางประสานความร่วมมือและความเข้าใจแก่คู่ความที่ประสงค์จะใช้บริการการไกล่เกลี่ยออนไลน์ด้วย
ภาพจากอีจัน
– โครงการที่ 3 คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาหรือจําเลย โดยคำนึงถึงเหยื่ออาชญากรรมและความสงบสุขของสังคมโดยรวม เน้นการฟื้นฟูหรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดกระทำหรือมีโอกาสกระทำความผิดขึ้นอีก เช่น การส่งเสริมให้ผู้พิพากษาใช้ดุลพินิจในการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวให้เหมาะสม การใช้มาตรการรอการกำหนดโทษ และมาตรการในการทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับตามที่กฎหมายกำหนดไว้ทั้งนี้เพื่อลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น รวมทั้งการใช้ดุลพินิจในการกำหนดเงื่อนไขในการเยียวยาผู้เสียหายตามที่เห็นสมควร
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

– โครงการที่ 4 การพัฒนาระบบการให้ความช่วยเหลือและอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนด้านแรงงาน”
เน้นการให้ข้อมูลและให้บริการประชาชนในเชิงรุก เกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายแรงงาน เช่น การจัดทำ “ศาลแรงงานเคลื่อนที่” เปิดศูนย์ให้คำปรึกษา “คลินิกศาลแรงงานร่วมใจ วิถีใหม่-สู้ภัยโควิด” และบริการ “Labour Court : Online For You” ในศาลแรงงานทั่วประเทศ