กทม. เผย 14 จุดเสี่ยงน้ำท่วมช่วงฤดูฝน

กทม.ขุดลอกคลอง-ท่อระบายน้ำ รับมือฤดูฝนที่อาจตกหนักทำน้ำท่วมขังใน 14 จุดเสี่ยงที่ระบายน้ำไม่ทันเกิดน้ำท่วมขังทุกปี

หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศว่าในปีนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตามเกณฑ์ทางอุตุนิยมวิทยาตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป และจะสิ้นสุดลงในช่วงกลางเดือนตุลาคม สำหรับช่วงปลายเดือนมิถุนายน – กลางเดือนกรกฎาคม จะมีปริมาณฝนตกน้อย และจะตกชุกหนาแน่นที่สุดในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน รวมถึงมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน ประมาณ 1 – 2 ลูก ส่วนบริเวณภาคใต้นั้น จะมีฝนตกต่อไปอีกจนถึงกลางเดือนมกราคม 2564

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ในช่วงฤดูฝนนี้ กรุงเทพมหานครได้เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยการขุดลอกคลอง ลอกท่อระบายน้ำ ลดระดับน้ำในคลอง แก้มลิง เพื่อเตรียมรองรับปริมาณฝนที่จะเกิดขึ้น รวมถึงเตรียมพร้อมระบบสูบน้ำ ทั้งอุโมงค์ระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ บ่อสูบน้ำ บ่อหน่วงน้ำใต้ดิน หรือ Water Bank ซึ่งได้มีการพัฒนาปรับปรุงเพื่อรับมือกับสภาพอากาศ และสภาพพื้นที่ ที่เปลี่ยนแปลงไปของกรุงเทพมหานคร และกรณีเกิดปัญหาไฟฟ้าดับยังได้มีการเตรียมเครื่องสูบน้ำชนิดเครื่องยนต์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ไว้เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินอีกด้วย
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
นอกจากนี้ ยังมีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น กรมชลประทาน การไฟฟ้านครหลวง กรมทางหลวง และจังหวัดปริมณฑล เพื่อบูรณาการความร่วมมือที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา และแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุดหากมีน้ำท่วมเกิดขึ้น สำหรับจุดเสี่ยงน้ำท่วมซึ่งถือเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำเป็นกายภาพที่แก้ไขได้ยาก และเป็นจุดที่น้ำจะไหลมารวมกันเป็นประจำ สร้างปัญหาต่อการสัญจรของประชาชน มีจำนวน 14 จุด ประกอบด้วย 1. ถนนแจ้งวัฒนะ จากคลองประปาถึงคลองเปรมประชากร เขตหลักสี่ 2. ถนนรัชดาภิเษก ช่วงหน้าธนาคารกรุงเทพ เขตจตุจักร 3. ถนนพหลโยธิน ช่วงหน้าตลาดอมรพันธ์และแยกเกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร 4. ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ช่วงแยกเตาปูน เขตบางซื่อ 5. ถนนราชวิถี ช่วงหน้า ม.สวนดุสิตถึงเชิงสะพานกรุงธน 6. ถนนพญาไท ช่วงหน้ากรมปศุสัตว์ เขตราชเทวี 7. ถนนศรีอยุธยา ช่วงหน้า สน.พญาไท เขตพญาไท 8. ถนนจันทร์ จากซอยบำเพ็ญกุศลถึงไปรษณีย์ยานนาวา 9. ถนนสวนพลู จากถนนสาทรใต้ถึงถนนนางลิ้นจี่ 10. ถนนสาธุประดิษฐ์ บริเวณแยกตัดถนนจันทน์ 11. ถนนสุวินทวงศ์ ช่วงจากคลองสามวาถึงคลองแสนแสบ 12. ถนนเพชรเกษม จากคลองทวีวัฒนาถึงคลองราชมนตรี 13. ถนนหมู่บ้านเศรษฐกิจ จากถนนเพชรเกษมถึงวงเวียนกาญจนาภิเษก 14. ถนนบางขุนเทียนชายทะเล จากถนนพระราม 2 ถึงคลองสะแกงาม สำหรับประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกับกรุงเทพมหานครได้ง่าย ๆ โดยการงดทิ้งขยะลงในที่สาธารณะ ทั้งลำคลอง ท่อระบายน้ำ พื้นถนน เพราะจะทำให้เกิดการอุดตันของทางระบายน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ โดยสามารถติดตามสถานการณ์ฝนแบบเรียลไทม์ ได้ที่ http://weather.bangkok.go.th/radar/RadarNongkam.aspx ข้อมูล : สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร
ภาพจากอีจัน