นายกฯ ขอบคุณ ทุกสมาคมภาคธุรกิจ ช่วยรัฐฯ สู้วิกฤติโควิด-19

นายกรัฐมนตรี แถลงหลังหลังหารือสมาคมผู้ประกอบการ แก้วิกฤติโควิด-19 เผย 7 ข้อ อุ้มภาคธุรกิจสู้วิกฤติโควิด-19

วันนี้ (26 พ.ค.63) เมื่อเวลา 18.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) หรือศบค. ได้แถลงถึงการเดินสายพูดคุยกับภาคเอกชนและภาคธุรกิจ ว่า วิกฤตโควิดที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ ได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ไม่เพียงเป็นวิกฤติด้านสาธารณสุข แต่ยังเป็นวิกฤติที่รุนแรงซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินของประชาชน ในด้านสาธารณสุข ประเทศไทยประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้ดีและรวดเร็ว หากเปรียบเทียบกับอีกหลายประเทศในโลก

ภาพจากอีจัน


นายกยังพูดถึงอีกหนึ่งวิกฤติที่อยู่ตรงหน้าเราตอนนี้ นั่นคือวิกฤตในเรื่องของการขาดรายได้ หาเลี้ยงปากท้องของพี่น้องประชาชน ดังนั้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยจัดการกับวิกฤตเรื่องปากท้อง นายกฯ ได้เดินทางไปพบกับสมาคมภาคธุรกิจต่างๆ ด้วยตัวเอง ในช่วง 2 ถึง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เน้นสมาคมที่เป็นตัวแทนของผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็ก และคนทำมาหากินทั่วประเทศ เพื่อรับฟังโดยตรง และเข้าใจความเดือดร้อนที่แท้จริงที่เกิดขึ้น โดยเป้าหมายของผมคือ หาวิธีแก้ปัญหาตรงหน้า ที่จะสามารถทำได้ทันที เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในระยะสั้นก่อน ซึ่งผมก็ได้รับข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์อย่างมากจากสมาคมต่างๆ
ผลที่ได้จากการไปพบปะหารือกับสมาคมภาคธุรกิจต่างๆ มีหลายอย่าง ที่นายกฯได้สั่งการให้เกิดขึ้นแล้ว และอีกหลายอย่างที่ตัดสินใจแล้วว่า จะผลักดันให้เกิดขึ้น

ภาพจากอีจัน


– ประการแรก ได้สั่งการในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป จะเป็นนโยบายกำหนดโควต้า ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างที่ตั้งไว้แล้ว ต้องไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการจากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม รวมไปถึงผู้ประกอบการเล็กๆ ในท้องถิ่นต่างๆ ทั้งนี้พิจารณาให้อยู่ในกรอบของข้อกฎหมาย นั่นหมายความว่า เงินจะถูกกระจายออกไปเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจรากหญ้า ผู้ประกอบการขนาดเล็ก และกลุ่ม SME ทั่วประเทศ นอกจากนั้น ยังอยากขอความร่วมมือจากบริษัทขนาดใหญ่ต่างๆ หากท่านต้องซื้อของ หรือใช้บริการอะไร ขอให้ท่านช่วยกันสั่งซื้อของ และใช้บริการจากผู้ประกอบการ SME ในประเทศของเรา
– ประการที่ 2 ผลจากการหารือกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้รับทราบว่า สถานที่ค้าขายต่างๆ รวมทั้งศูนย์การค้า ห้างร้าน ต่างต้องการให้รีบเปิดสถานที่ค้าขายโดยเร็วที่สุด เพื่อกลับมาทำมาหากินกันได้อีกครั้ง โดยตัวแทนของภาคธุรกิจได้เล่าถึงวิธีการ และความพร้อมในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดที่ห้างร้านต่างๆ ได้เตรียมการกันไว้อย่างเข้มงวด ทำให้สบายใจในระดับหนึ่ง และทำให้ได้สั่งการ เริ่มเปิดห้างร้านต่างๆ ได้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
– ประการที่ 3 ในส่วนของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งชัดเจนว่าต้องการให้นักท่องเที่ยวกลับมาโดยเร็ว ประเด็นนี้ ทางนายกรับทราบ และเข้าใจความต้องการ ซึ่งจะดำเนินการตามที่เสนอ เมื่อเห็นว่า ความเสี่ยงของการแพร่ระบาดโควิด ลดลงไปอยู่ในระดับที่เราจะยอมรับความเสี่ยงนั้นได้ เพราะเราต้องระมัดระวังอย่างมาก ไม่ให้ทุกอย่างที่เราทำมาได้ดีทั้งหมดเสียเปล่า นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ หาจุดสมดุลของการดูแลเรื่องสาธารณสุข และการช่วยเหลือเรื่องการทำมาหากินของประชาชน
– ประการที่ 4 ได้สั่งการและสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐพิจารณาการใช้งบประมาณที่มีอยู่แล้วสำหรับการจัดประชุมสัมมนา ขอให้ออกไปใช้สถานที่ หรือโรงแรมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ผมหวังว่านี่จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการซึ่งอยู่ในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยขอให้เลือกใช้โรงแรมที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย
– ประการที่ 5 จากการหารือกับสมาคมภาคธุรกิจต่างๆ ทำให้ได้รับทราบว่า มีแรงงานในบางภาคธุรกิจ และในบางพื้นที่ ซึ่งนายจ้างจำเป็นต้องปิดกิจการชั่วคราว แต่แรงงานยังไม่ได้รับเงินชดเชยประกันสังคม อาจจะด้วยปัญหาความไม่ชัดเจนในวิธีการพิจารณาและวิธีปฏิบัติ ผมเห็นด้วยว่าเป็นประเด็นที่ต้องรีบแก้ไข ผมจึงได้สั่งการ และขณะนี้ได้ดำเนินการให้มีความชัดเจนแล้ว ผู้ปฏิบัติสามารถปฏิบัติได้ถูกต้อง และแรงงานก็ได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคม
– ประการที่ 6 ซึ่งเป็นผลมาจากการหารือกับสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ผมได้รับทราบถึงสิ่งที่เกษตรกรกังวลใจมากที่สุด มากกว่าโควิด นั่นคือ ปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ จึงสั่งการไปแล้วว่าให้หาวิธีการรับมือกับสถานการณ์น้ำในช่วงนี้ก่อน โดยทันที อะไรที่ทำแล้วจะช่วยได้บ้าง ก็ขอให้ทำไปก่อน และขณะนี้ตัวแทนชาวนาและเกษตรกรกำลังจัดทำแผนปฏิบัติที่ตรงจุด ซึ่งจะนำเสนอให้ผมพิจารณาเร็วๆ นี้
– ประการที่ 7 จากที่นายกฯ ได้ไปพบและหารือกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ซึ่งได้นำเสนอข้อมูลและข้อเสนอแนะที่สำคัญให้ผมทราบ เพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหาในระยะยาวของภาคการประมง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของการประกอบอาชีพ ซึ่งผมเห็นด้วยในหลายเรื่อง แต่ด้วยมีความซับซ้อนอยู่หลายประเด็น จึงสั่งการให้ตั้งทีมทำงานขึ้นมา เพื่อช่วยกันคิดวิธีแก้ปัญหา สิ่งสำคัญที่สุด คือ นายกฯจะเชิญตัวแทนจากสมาคมประมง ทั้งประมงพาณิชย์ และ ประมงพื้นบ้าน เข้ามานั่งเป็นทีมทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของภาครัฐด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทำให้เราหาวิธีแก้ไขปัญหา ได้อย่างถูกต้อง ตรงจุด และรวดเร็ว
นี่เป็นส่วนหนึ่ง บางเรื่องที่นายกฯได้สั่งการไปแล้ว และเริ่มเกิดการปฏิบัติแล้ว ในระดับนโยบายและสั่งการ แก้ไขปัญหา หาวิธีการที่เหมาะสมโดยยึดกฎหมายเป็นหลัก
ก่อนนายกฯ จะทิ้งท้าวว่า “อยากพูดอีกเรื่องหนึ่งว่า การเดินทางไปพบปะสมาคมภาคธุรกิจต่างๆ ทำให้ได้พบกับบุคคลที่น่าประทับใจหลายท่าน ซึ่งขอขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างมากที่เป็นส่วนสำคัญของทีมประเทศไทยของเรา สิ่งที่อยากจะขอบคุณเป็นพิเศษก็คือ การที่ท่านทั้งหลาย ไม่เพียงมีความห่วงใยในภาคธุรกิจของตัวเอง แต่ทุกท่านยังมีความห่วงใยต่อประเทศด้วย นี่คือหัวใจที่ยิ่งใหญ่ของคนไทย และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยของเราให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเข้มแข็งต่อไป