ลูกช้างป่าหลงโขลงสุขภาพดี กรมอุทยานฯ เร่งหาโขลงปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

กรมอุทยานฯ จัดทีมสัตวแพทย์ดูแลลูกช้างป่าพลัดหลงโขลง แผลที่ขาหน้าซ้ายเริ่มหายดี เตรียมความพร้อมปล่อยลูกช้างกลับคืนสู่อ้อมอกแม่

(14 พ.ค. 63) เพจ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รายงานการดูแลลูกช้างป่าที่พลัดหลงโขลง และความพร้อมในการปล่อยลูกช้างคืนสู่อ้อมอกแม่ ว่า

นายธนิต หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 เวลา 13.00 น. คณะเจ้าหน้าที่จากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกอบด้วย นายบรรพต มาลีหวล หัวหน้ากลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า สัตวแพทย์หญิงกิตติยาภรณ์ เอี่ยมสะอาด นายสัตวแพทย์ชำนาญการ กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า พร้อมด้วย น.สพ.ปิยะ เสรีรักษ์ นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) และ น.สพ.ไพโรจน์ พรมวัตร สัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และ น.สพ.ดร.สิทธิเดช มหาสาวังกุล ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสัตวแพทย์ สถาบันคชบาลแห่งชาติ อ.อ.ป. (โดยการประสานของ น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า) ได้เดินทางมาตรวจดูอาการของลูกช้างพลัดหลง ณ คอกอนุบาล ของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน


ผลการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งหมด สรุปได้ดังนี้

1. สุขภาพลูกช้างป่า แข็งแรง ส่งเสียงร้องเสียงดังเวลาที่หิวนม ประมาณดัชนีมวลกายของลูกช้างป่า (Body score) อยู่ที่ 3 – 3.5 จาก 10 บ่งชี้ว่าไม่อ้วน และไม่ได้ผอมจนเกินไป

2. ลักษณะของบาดแผลที่ข้อเท้าด้านซ้าย มีขนาดเล็กลงมาก มีหนองเล็กน้อย มีการสร้างเนื้อเยื่อใหม่มาทดแทนส่วนที่เสียหายไปอย่างเห็นได้ชัดเจน ทางผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าลักษณะของแผลแบบนี้คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ น่าจะหายเป็นปกติหากไม่มีการติดเชื้อแทรกซ้อนและรักษาความสะอาดได้เป็นอย่างดี

3. คณะผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าควรจะรีบนำส่งลูกช้างป่าพลัดหลงคืนสู่ธรรมชาติ หากแผลหายเป็นปกติดี

4. อาหารสามารถเสริมเป็นข้าวต้มบดละเอียดได้ แต่ควรจะค่อยๆเสริมโดยให้วันละ 1 ครั้งก่อน และดูลักษณะของขี้ช้างที่ออกมาว่ามีลักษณะอย่างไร

5.แนะนำให้เสริมแคลเซียม โดยให้ป้อนหลังจากดื่มนมหรือก่อนดื่มนม เพราะจะสามารถดูดซึมได้ดี หรืออาจจะละลายในนมให้พร้อมกันก็ได้ โดยขนาดที่แนะนำควรจะได้วันละ 3,000-5,000 มิลลิกรัมต่อวัน

6. สามารถเสริมวิตามินบี และวิตามินซี ได้ตามความเหมาะสม เนื่องจากวิตามินกลุ่มนี้ละลายในน้ำ ไม่สะสมในร่างกายสามารถขับทิ้งออกทางฉี่ได้

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
น.สพ. ปิยะ เสรีรักษ์ นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ซึ่งเป็น น.สพ. ที่ได้รับมอบหมายจาก นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12(นครสวรรค์) ให้เป็น น.สพ. หัวหน้าทีมดูแลรักษาลูกช้างพลัดหลง รับไปประสานและดำเนินการให้เป็นไปตามข้อแนะนำนี้ต่อไป
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน