รู้ไว้! การนินทามีความผิดฐานหมิ่นประมาท

สำนักงานกิจการยุติธรรม เผย ดร.ธีร์รัฐ ไชยอัคราวัชร์ แนะการนินทามีความผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะกฎหมาย ไม่ต้องการให้คนด่ากัน หรือนินทาใส่ความกัน

เพจเฟซบุ๊ก สำนักงานกิจการยุติธรรม โพสต์ข้อความให้ความรู้ เรื่อง การนินทามีความผิดนะ ผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย ซึ่งข้อมูลนี้ ดร.ธีร์รัฐ ไชยอัคราวัชร์ ได้แบ่งปันความรู้ไว้ว่า การนินทาเป็นความผิด เพราะกฎหมายไม่ต้องการให้ประชาชนนินทาคนอื่นลับหลัง … เพราะการนินทานั้น แม้เป็นความจริง แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องสำคัญของบ้านเมือง การนินทาก็อาจจะเป็นต้นเหตุให้เกิดความแตกแยก

ภาพจากอีจัน
แต่ถ้าการนินทาใส่ร้ายนั้นเป็นความจริงแล้วจะเป็นประโยชน์กับประเทศ ประชาชนก็ย่อมมีสิทธินินทาได้ เพราะเป็นสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น (right to expression) กฎหมายจึงกำหนดให้เป็นข้อยกเว้นไว้ ให้พูดใส่ร้ายกรณีนี้ได้โดยไม่เป็นความผิด.. สรุปคร่าวๆได้ ดังนี้ 1. หมิ่นประมาท.. คือการใส่ความคนอื่น ให้อีกคนหนึ่งฟังโดยยืนยันความจริงบางอย่าง แต่ดูหมิ่น ไม่ใช่เรื่องยืนยันเรื่องอะไร อาจเป็นแค่คำด่า เพื่อให้คนฟังเจ็บใจ ถ้าเจตนาด่าให้อีกฝ่ายเจ็บใจต่อหน้าให้รู้แค่คนถูกด่า ก็ผิดดูหมิ่นซึ่งหน้า แต่ถ้าด่าอีกฝ่ายโดยมีเจตนาให้คนอื่นรู้ไปทั่ว (ด่าประจาน) เช่น ทางสื่อออนไลน์ ก็ผิดดูหมิ่นโดยการโฆษณา มีโทษเท่ากัน 2. การใส่ความเพื่อหมิ่นประมาท คือการกล่าวอ้างยืนยันข้อเท็จจริงบางอย่างว่าเป็นจริง แต่ความจริงๆนั้น อาจจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง คนใส่ความก็ผิดได้ 3. การกล่าวใส่ความยืนยันข้อเท็จจริงนั้น อาจกล่าวตรงๆ หรือกล่าวเป็นนัย หรือเปรียบเทียบเปรียบเปรย ก็ผิดได้ เช่น สส. โกงกิน หรือ กินน้ำใต้ศอก หรือสุนัขรับใช้ หรือเฮงซวย ถ้าต้องตีความหมาย คู่ความต้องนำสืบความหมายที่เขาพูดก่อน แล้วศาลจะเป็นคนตัดสินว่า ถ้อยคำนั้น เป็นการใส่ความ ทำให้คนอื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังหรือไม่ 4. การกล่าวใส่ร้ายคนอื่นนั้น อาจระบุชื่อคนอื่นอย่างชัดเจน หรือระบุแค่อักษรย่อ หรือระบุชื่อสมมุติ หรือไม่ได้ระบุชื่อเลย ก็ผิดได้ ถ้าดูจากพฤติการณ์ของผู้พูดแล้ว ทำให้ผู้ฟังสามารถเข้าใจได้ว่า ผู้พูดหมายถึงใคร 5. แม้ไม่ระบุชื่อ แต่ก็ต้องเฉพาะเจาะจงให้รู้ตัวบุคคล.. เช่น พระรูปหนึ่งในวัดนี้ ปาราชิกเสพเมถุน (ไม่ผิดเนื่องจากคนฟังไม่รู้ว่า เป็นพระรูปใดเพราะวัดนี้มีพระเยอะ) หรือ คนไทยเลวทุกคน ..ไม่ผิดเพราะไม่รู้ว่าคนไหนเลว.. 6. การใส่ความนั้น ต้องน่าจะทำให้คนอื่นนั้นเสียชื่อเสียง หรือถูกเกลียดชัง.. เช่น กล่าวว่า นางสร้อยเป็นเมียน้อย แย่งผัวเขามา หรือ นางแดงท้องไม่มีพ่อ หรือ นายชายเป็นแมงดา หรือ นางนกตอแหล เป็นต้น 7. การใส่ความ อาจทำด้วยการพูด การเขียน การวาดรูป การโพสต์ข้อความ หรือการโพสต์รูปภาพ ก็ได้ 8. หมิ่นประมาท มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และโทษปรับ แต่เป็นความผิดยอมความได้ 9. คดีหมิ่นประมาท ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ ภายใน 3 เดือนต่อตำรวจเพื่อให้อัยการฟ้องศาล 10. ถ้าผู้เสียหายไม่ร้องทุกข์ ตำรวจจะไม่มีอำนาจสอบสวนดำเนินคดี แม้จับคนใส่ความมาแล้ว ก็ต้องปล่อยไป 11. คดีหมิ่นประมาท ผู้เสียหายอาจไม่แจ้งความตำรวจก็ได้ แต่ต้องตั้งทนายความฟ้องศาลเองภายใน 3 เดือน กรณีนี้ ตำรวจจะไม่มีอำนาจดำเนินคดี และพนักงานอัยการ ก็ไม่มีอำนาจฟ้อง 12. คดีหมิ่นประมาท คู่กรณีมีสิทธิยอมความกันได้ตลอดเวลา ถ้าร้องทุกข์ไว้แล้ว.. ก็ถอนคำร้องทุกข์ได้ ถ้าฟ้องคดีไปแล้วก็ถอนฟ้องได้ 13. การหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา คือใส่ความเพื่อให้คนทั่วไปได้รับรู้ เช่น ปิดประกาศ ลงหนังสือพิมพ์ ใช้ไมโครโฟน ออกอากาศทางวิทยุหรือโทรทัศน์หรือโพสต์ข้อความแบบสาธารณะในเฟซบุ๊ก ในไลน์ เป็นต้น โทษหนักขึ้น เป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี แต่ก็ยังยอมความได้อยู่..ถ้าผู้เสียหายเขาไม่ติดใจ 14. คนที่ใส่ร้ายคนอื่น ทำให้คนอื่นเสียหายนั้น ไม่ว่าเป็นคนธรรมดา หรือเป็นสื่อมวลชล ก็มีความผิดได้เหมือนกัน ถ้าไม่เข้าข้อยกเว้น 15. ข้อยกเว้นใหญ่ๆของหมิ่นประมาท มี 3 ข้อ.. – พูดเพื่อป้องกันสิทธิโดยชอบธรรมและสุจริต คือ ถ้าไม่พูดตนเองจะเสียหาย – ติชมโดยสุจริตและเป็นธรรม ในฐานะของประชาชนมักเป็นเรื่องระหว่างประชาชนกับสื่อ หรือบุคคลสาธารณะ – พิสูจน์ได้ว่า ที่ใส่ความนั้นเป็นประโยชน์แก่ประชาชน เป็นความจริง และไม่ใช่เรื่องส่วนตัว 16. การเป็นนักข่าว ผู้สื่อข่าว หรือสื่อมวลชนต่างๆไม่ได้รับยกเว้นความรับผิด เว้นแต่จะอ้างว่า ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย 17. ทนายความ แสดงความเห็นใส่ความอีกฝ่าย เพื่อประโยชน์แก่ลูกความตน ถ้าได้ทำในศาล (ในกระบวนพิจารณาคดี)ก็ไม่ผิด 18. หมิ่นประมาทตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เป็นเรื่องการตัดต่อภาพให้อับอายเสียหาย เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่ใช่การใส่ความ จึงไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา 19. หมิ่นประมาท เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ไม่เป็นความผิดฐานโพสต์ข้อมูลเท็จตามมาตรา 14(1) พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เพราะมาตรานี้ เขาร่างมาเพื่อใช้กับการส่งข้อความเท็จมาหลอกให้เราส่งข้อมูลส่วนตัวของเราไปให้เขา 20. ความผิดฐานดูหมิ่น.. (ไม่ใช่หมิ่นประมาท) เป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้.. แต่มีโทษน้อย เป็นลหุโทษ..ถ้าตำรวจรู้ ต้องดำเนินคดี.. แต่ถ้ายอมรับผิดเสียค่าปรับ คดีก็จบได้..
ภาพจากอีจัน
สรุปได้ว่าเรื่องหมิ่นประมาทนั้น กฎหมาย ไม่ต้องการให้คนด่ากัน หรือนินทาใส่ความกัน ถึงแม้การใส่ความ อาจจะเป็นความจริง แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว และไม่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง กฎหมายก็อยากให้เราเฉยไว้ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญ หรือหลักสิทธิมนุษยชนก็ดี มีขอบเขตและหลักเกณฑ์เหมือนกัน คือ “การใช้สิทธิเสรีภาพในการพูดนั้น ต้องไม่ทำผิดต่อกฎหมาย และต้องไม่มี hate speech (คำพูดที่ทำให้เกิดความรุนแรง ยุยงให้ทำลายล้าง เกลียดชังกัน)” นั่นคือ แม้เราจะมีเสรีภาพในการพูดและเเสดงความเห็น แต่จะต้องไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่น และต้องไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท “ผมจำได้ว่า พ่อหลวงท่านเคยกล่าวไว้ เป็นสำคัญตอนหนึ่งว่า จงทำหน้าที่ของแต่ละคน ตามบทบาทของตนให้ดีที่สุด แต่ผมเข้าใจต่อไปเองว่า และจงอย่ายุ่งเรื่องคนอื่น ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้านเมือง”