ม.อ. เปิดตัวชุดตรวจโควิด-19 รู้ผลภายใน 15-20 นาที

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พัฒนาชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 รู้ผลเบื้องต้นใน 15-20 นาที

(29 เมษายน 2563) ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลิตชุดตรวจประสิทธิภาพสูง PSU COVID-19 ได้สำเร็จ เปรียบเสมือนอาวุธสำคัญทางการแพทย์สำหรับต้านการรุกรานของเชื้อโรค โดยความสามารถของนักวิจัยจากหลายคณะ และทุ่มเทในการแก้ไขปัญหาโดยเปิดศูนย์หลักของภาคใต้ในการดูแลผู้ป่วย

ภาพจากอีจัน

ทั้งนี้ การติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 พบครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน จากนั้นระบาดอย่างรวดเร็วและแพร่กระจายไปทั่วโลกการวินิจฉัยการติดเชื้อก่อโรคโควิด-19 ที่ถือเป็นวิธีมาตรฐาน คือการตรวจหาสารพันธุกรรม (RNA) ของไวรัสโดยตรวจจากสิ่งส่งตรวจที่เป็นสารคัดหลั่งบริเวณทางเดินหายใจ ซึ่งต้องใช้บุคลาการที่มีความชำนาญในการปฏิบัติงานและแปลผลการตรวจ มีระยะเวลาการตรวจที่นานประมาณ 2-3 ชั่วโมง เครื่องมือมีราคาสูงไม่เหมาะกับงานภาคสนาม อีกทั้งบุคลากรที่ทำหน้าที่เก็บตัวอย่างจะมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อไวรัส เนื่องจากต้องสัมผัสกับคนไข้ในระหว่างการเก็บตัวอย่างส่งตรวจจากทางเดินหายใจซึ่งมีความเข้มข้นของเชื้อไวรัสในปริมาณสูง

ภาพจากอีจัน
ด้าน ผศ.ดร.ธีรกมล เพ็งสกุล คณะเทคนิคการแพทย์ หัวหน้าโครงการชุดทดสอบเพื่อตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 เปิดเผยว่า ชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 (PSU COVID-19 Rapid Test) จะสามารถช่วยคัดกรองเบื้องต้น ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่จะสัมผัสกับเชื้อ (person under investigation หรือ PUI) ซึ่งสามารถระบุได้เบื้องต้นว่า ผู้ป่วยอยู่ในระยะใดของการติดเชื้อ หากการวินิจฉัยเบื้อต้นพบผลบวก ก็สามารถส่งต่อเพื่อตรวจยืนยันได้ นอกจากนี้หากเคยได้รับเชื้อและหายแล้วก็ยังตรวจได้ การตรวจใช้ตัวอย่างเลือด และใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที ซึ่งในการทดสอบการพัฒนาชุดตรวจครั้งนี้เราเฟ้นหาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านทั้งนักเทคนิคการแพทย์ เภสัชกรและคณะแพทยศาสตร์ เพื่อให้เราผ่านวิกฤตไปด้วยกัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
“โครงการพัฒนาชุดทดสอบเพื่อตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ชุดตรวจนี้ใช้สำหรับตรวจคัดกรองผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว ใช้หลักการ immunochromatography (อิมมูโนโชมาโตกราฟฟี) (ICT) ในการตรวจหาภูมิคุ้มกันของร่างกายที่สร้างต่อเชื้อทั้งชนิด IgM และ IgG และจำเพาะต่อโปรตีนของเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19 โดยวิธี ICT เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการตรวจเนื่องจากทำได้ง่าย รวดเร็ว มีความคงตัวมีความไวและความจำเพาะสูง สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งการตรวจหาการติดเชื้อในเบื้องต้นและตรวจติดตามการพัฒนาภูมิคุ้มกันของร่างกาย ใช้เวลาในการตรวจเพียง 15-20 นาที ชุดตรวจเก็บรักษาได้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลาหลายเดือน อีกทั้งตัวอย่างที่ใช้ในการตรวจมีปริมาตรน้อย ประมาณ 15-20 ไมโครลิตร (2-3 หยด) ใช้ได้กับตัวอย่างเลือดที่เจาะจากปลายนิ้ว พลาสมาหรือซีรัม ตัวอย่างเหล่านี้มีปริมาณของเชื้อไวรัสที่น้อยมาก จึงลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของบุคลากรจากการเก็บตัวอย่างอีกทั้งยังเหมาะกับการตรวจภาคสนามที่บุคลากรทางการแพทย์ตรวจจากผู้ป่วยที่กักตัวที่บ้านโดยที่ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ลดการแพร่เชื้อและการลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาลได้”