พญาเสือ ลุยตรวจสอบโรงแรมแอบปล่อยน้ำเสียลงทะเล จ.กระบี่

จนท.พญาเสือ ลงพื้นที่หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี หลังมีร้องเรียนโรงแรมแอบปล่อยน้ำเสียทิ้งลงทะเล

ตามข้อสั่งการของ ดร.ยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษา รมว.ทส. และ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้หน่วยฯ พญาเสือ ดำเนินการเข้าตรวจสอบ กรณี เรื่องร้องเรียน เมื่อวันที่ 16 เม.ย.63 ว่ามีการลักลอบปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล บริเวณอ่าวต้นไทร ผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
จนท.ลงพื้นที่ตรวจสอบหมู่ที่ 7 ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ พบสภาพพื้นที่บริเวณชายหาดอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี มีลักษณะเป็นลำรางทางน้ำไหลผ่านลงสู่ทะเล ซึ่งยังมีน้ำที่มีการปนเปื้อนของตะกอนและคราบสีดำไหลอยู่ เป็นเส้นสายเล็กๆ พื้นทรายมีร่องรอยการขุดกลบหรือเกลี่ยทรายทับปิดไว้ โดยรอบพื้นที่ยาวตลอดเลยขึ้นไปถึงบริเวณที่อยู่นอกเขตอุทยานฯ (พื้นที่กันออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ) เป็นลำราง/คูน้ำสาธารณะ
ภาพจากอีจัน

ตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกทางหนึ่ง พบว่า น้ำเสียที่ไหลลงทะเลเกาะพีพีนั้น เป็นน้ำเสียจากโรงแรมผู้ประกอบการแห่งหนึ่งบนเกาะที่ล้างระบบบำบัดน้ำเสีย และลักลอบปล่อยน้ำเสียทิ้งลงลำรางระบายน้ำโดยตรง เจ้าหน้าที่จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานที่ได้จากการสืบสวนขยายผลการลักลอบปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล และเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติกรรมของโรงแรมแห่งหนึ่งบนเกาะพีพี ย่อมทราบดีว่าการปล่อยน้ำเสียทิ้งออกสู่คลองสาธารณะซึ่งเป็นปลายทางไหลลงสู่ทะเลน่านน้ำไทย และเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ย่อมก่อให้เกิดมลพิษและความเสียหายแก่แหล่งน้ำสาธารณะและอุทยานฯ กระทบกระเทือนต่อระบบนิเวศทางน้ำและสิ่งแวดล้อมของแหล่งน้ำนั้น

ภาพจากอีจัน

อีกทั้งบริเวณดังกล่าวยัง เป็นเขตควบคุมสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉบับลงวันที่ 16 มีนาคม 2559 เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในท้องที่อำเภออ่าวลึก อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเหนือคลอง อำเภอคลองท่อม และอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของเจ้าของกิจการโรงแรม ผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหายแก่แหล่งน้ำสาธารณะและอุทยานฯ แต่เจ้าของกิจการโรงแรม ผู้ที่เกี่ยวข้อง กลับมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามภาระหน้าที่ เมื่อปรากฏว่าโรงแรมของตนก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุทยานแห่งชาติ เจ้าของกิจการโรงแรม ผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ดังนี้

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

-มาตรา 19 (2) ภายในอุทยานแห่งชาติ ห้ามมิให้บุคคลใด กระทำการอื่นใด (ปล่อยน้ำเสีย) อันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีบทลงโทษตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ภาพจากอีจัน

– มาตรา 40 ผู้ใดกระทำการหรืองดเว้นกระทำการไม่ว่าจงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติ ผู้นั้นต้องรับผิดชอบค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปนั้น