ศ.นพ.นิธิ แนะ ผ่อนปรน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องทยอยเปิดทีละกิจการ ให้รัฐดูแลได้

ผอ.รพ.จุฬาภรณ์ โพสต์เสนอแนวทาง ผ่อนปรน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ทยอยเปิดทีละกิจการ ใต้การควบคุมของรัฐฯ ชี้ อาจมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบันแต่ควบบคุมได้

วันนี้ (21 เม.ย. 63) ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ ผอ.โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “Nithi Mahanonda” ว่า โควิด 19 สงครามที่ไม่มีวันชนะ ตอน เตรียมพร้อมเผด็จศึก แนวทางการ Unlock (ปลดล็อค) ประเทศไทย…

ตามแนวคิดที่ WHO มีนั้นเป็นภาพกว้างๆ สำหรับทุกประเทศทั่วโลก แต่สำหรับเราทำมาได้ดีกว่านั้นมากแล้วครับ ขณะนี้ ต้องเรียกว่าเราควบคุม หน่วงการระบาดได้ดีมากๆ (จะขาดนิดหน่อยก็เรื่องการตรวจหาเชื้อ และภูมิคุ้มกัน กับยาที่จำเป็นยังมีไม่พอ ไม่ทั่วถึง) ผมคิดว่าเรามี 2 แนวทางที่อยากเสนอครับ เมื่อวานเสนอแนวที่สองที่แหวกแนวคิดไปแล้ว วันนี้ขอกลับมาแนวที่หลายๆ คนเสนอเห็นว่าเป็นไปได้มากที่สุด

แนวทางแรก คือ ค่อยๆ ทยอยเปิดในกิจการ หรือ กิจกรรมที่สามารถจัดมาตรการ (และรัฐกำกับดูแลได้)ในการควบคุมรักษาระยะห่าง และ ความสะอาด ที่สำคัญคือการเฝ้าระวังคนที่เป็นโรคและติดตามคนที่เสี่ยงที่จะติดที่ต้องเข้มแข็งมากๆ ถึงมากที่สุด เพราะเราจะใช้วิธีค่อยเปิดกิจกรรม กิจการ ที่มีความเสี่ยงน้อยๆ ก่อนนี้ เรายังคงจะมีเคสใหม่เกิดขึ้นในประเทศอยู่เรื่อยๆ และจะเพิ่มมากขึ้นกว่าปัจจุบันแน่นอน (คลื่นลูกที่สอง) แค่หวังว่าเคสใหม่ที่เพิ่มขึ้นจะมีในระดับที่เราจะควบคุมได้ (การควบคุมได้หมายความว่า ไม่มีจำนวนมากเกินกว่าที่เตียงในโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล อุปกรณ์ทางการแพทย์ และยาเราจะมีพอ)

ภาพจากอีจัน


แต่เมื่อค่อยทยอยเปิด (ซึ่งจะทยอยเปิดอย่างไรก็ต้องแล้วแต่รัฐบาลล่ะครับ…ไม่ง่ายแน่ คนที่ได้เปิดทีหลังโวยแน่ ถ้าไม่อธิบายให้ดี) ผมแนะนำนะครับว่า ให้ยึดหลักรักษาระยะห่าง…ใส่หน้ากาก…และล้างมือ ในช่วง “ทดลอง”เปิด น่าจะห้ามชุมนุมหรือมีกิจกรรมเกิน 10 คนไว้ก่อน(บางประเทศเอาแค่ 4 คน) การเฝ้าระวังต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยด้วย เดี๋ยวนี้ระบบ AI เก่งขนาดสามารถคาดการณ์จุดที่จะระบาดได้แล้ว [ขอไม่เล่ารายละเอียดตอนนี้ล่ะครับ แต่สำหรับแพทย์และนักวิชาการ บอกไว้เพื่อไปพัฒนากันต่อ ในเมืองไทย….เราทำได้เองแน่ ไม่แพง…การติดเชื้อหรือได้รับเชื้อโรคทุกๆ ชนิดนั้น เรียนกันมาตั้งแต่เป็นนักเรียนแพทย์ว่า สิ่งแรกที่จะแสดงก่อนอาการไข้คือ ชีพจรขณะพัก(resting heart rate) จะเต้นเร็วขึ้นก่อนมีไข้ มีอาการใดๆ. ถ้าเราใช้เครื่องติดตามที่อยู่ตามข้อมือของคนที่ออกกำลังหลายๆคน แบ่งกระจายเป็นกลุ่มๆ อยู่ในที่เสี่ยง เก็บข้อมูลขึ้นคลาวด์ เมื่อชีพจรขณะพักของกลุ่มใด ณ ที่แห่งใดที่ไหนสูงขึ้น….หน่วยเฝ้าระวังก็จะสามารถจัดการได้ก่อนโรคเกิดระบาดครับ] เรื่องเทคโนโลยีนี้ถ้าเตรียมยังอาจทันก่อนคลื่นลูกที่สองจะมา เมื่อเราผ่อนคลายมาตรการ หรือไม่ก็ทันแน่ๆ คือทันใช้ในการระบาดฤดูกาลหน้า (อย่าลืมว่าโรคไวรัสทางเดินหายใจระบาดแบบ seasonal ครับ)

ภาพจากอีจัน
ในขณะที่เทคโนโลยีนี้ยังไม่พร้อม เราต้องเพิ่มการตรวจหาเชื้อให้แพร่หลายกระจายไปให้ทั่วประเทศทุกจุด ทุกจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง การตรวจนี้ต้องให้ได้ผลภายในวันเดียวให้ได้ ในขณะเดียวกัน ต้องวางแผนตรวจภูมิคุ้มกัน หรือแอนตี้บอดี้อย่างเป็นระบบในกลุ่มเสี่ยงจุดเสี่ยง ทั้งประเทศอย่างสม่ำเสมอ อาจจะทุกเดือนในจุดเสี่ยงมาก หรือทุกสามเดือนในที่เสี่ยงปานกลาง ที่ต้องเฝ้าระวังกันเข้มแข็ง เพราะการติดเชื้อเมื่อเกิดขึ้นหนึ่งคนแล้ว หลุดรอดไปจำนวนคนได้รับเชื้อจะเพิ่มเป็น exponential (หาคำแปลไม่ได้จริงๆ ครับ คือเพิ่มเป็นเลขยกกำลัง) มันยิ่งกว่าทวีคูณนะครับ เขาว่าสมองมนุษย์ทั่วไปวาดภาพการเพิ่มแบบนี้ไม่ได้ เราวาดภาพได้แค่แบบเส้นตรง(linear) เท่านั้น แต่การเพิ่มแบบ exponential แบบการระบาดโควิดนั้น คือวันแรก 1 แล้ววันที่สอง 3 วันที่สาม 9 ..27……ไม่ถึงเจ็ดวัน จะกลายเป็นพันๆคนครับ อย่าลืมด้วยว่า เมื่อคนได้รับเชื้อแล้ว กว่าจะแสดงอาการจะประมาณ 5-7 วัน แต่เขาแพร่เชื้อได้ตั้งแต่วันที่ 2 หรือ 3 หลังได้รับเชื้อ
ภาพจากอีจัน
ดังนั้น เมื่อค่อยๆ ทยอยเปิดตามวิธีที่หนึ่งนี้ ยังไงๆ เราก็จะมีเคสเพิ่มนะครับ ขอให้ไวและระวังตัว ไม่ต้องโทษรัฐบาลนะครับพวกคุณขยันค้านที่น่ารัก ถ้าไม่ทัน หน่วงไม่อยู่ ยาและโรงพยาบาลไม่พอก็เจอ lock down อีกรอบ เว้นแต่ใช้วิธีนี้กับวิธีที่สองร่วมกัน ทุกท้องถิ่น ทุกจังหวัด (ชุมชนต้องเข้มแข็งล่ะครับ) ต้องลงในรายละเอียดของการติดเชื้อทุกราย ผมแน่ใจว่าข้อมูลรายละเอียดการติดเชื้อ สถานที่ทีมงานสาธารณสุขทีมติดตามมีแน่ๆ ณ.วินาทีนี้……รายละเอียดคือพระเจ้าครับ