กกพ. แนะ หลัก 5 อ. ดูแลผู้สูงอายุ ยุคโควิด-19

กรมการแพทย์ แนะหลักเกณฑ์ 5 อ. ดูแลผู้สูงอายุ ยุคโควิด-19 ชี้ หากติดเชื้อ บางรายอาจไม่แสดงอาการตรงไปตรงมา เห็นผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ทันที

วันที่ 21 เมษายน 2563 นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยหลักเกณฑ์ 5 อ. ในการดูแลผู้สูงอายุ ยุคโควิด-19 ว่า การที่ผู้สูงอายุต้องอยู่ในบ้านเป็นเวลานาน ร่างกายและสมองอาจถดถอยจนเกิดภาวะพึ่งพิงในระยะยาว

ในการป้องกันขอให้ยึดหลัก 5 อ. ได้แก่
อ.อาหาร ปรุงสุกใหม่ๆ เน้นโปรตีนสูงและครบ 5 หมู่ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
อ.ออกกำลังกาย ภายในบ้านอย่างสม่ำเสมอ เท่าที่ทำได้ตามสภาพร่างกาย
อ.อารมณ์ หยุดรับข่าวสารที่มากเกินไป ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา หรือปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323
อ.เอนกายพักผ่อน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-9 ชั่วโมง/วัน
อ.ออกห่างสังคมนอกบ้าน รักษาระยะห่างจากผู้สูงอายุอย่างน้อย 2 เมตร ใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และล้างมือทุกครั้งก่อนเข้าไปพูดคุยหรือใกล้ชิดผู้สูงอายุ

ภาพจากอีจัน
ทั้งนี้กลุ่มผู้สูงอายุจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มช่วยเหลือตัวเองได้ดี แม้สภาพร่างกายดูเหมือนปกติ แต่พลังสำรองร่างกายน้อยกว่ากลุ่มวัยอื่น จึงมีโอกาสเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มวัยอื่นหากติดเชื้อ จึงขอให้พยายามเก็บตัวอยู่บ้าน

2. กลุ่มติดบ้าน
มีโอกาสรับเชื้อจากภายนอกน้อย แต่ต้องระวังคนในครอบครัวนำเชื้อมาติด โดยเฉพาะเด็กเล็ก เพราะ มักแสดงอาการน้อย การระวังตัวต่ำ และผู้สูงอายุมักเอ็นดู คลุกคลี

3.กลุ่มติดเตียง
3.1 ดูแลที่บ้าน
– จะต้องมีการจัดดูแลใกล้ชิดโดยเฉพาะ ซึ่งต้องระวังตัวจากการติดเชื้อและป้องกันการแพร่เชื้ออย่างเข้มข้น เพราะ เว้นระยะห่างจากผู้สูงอายุได้ยาก
– ผลัดเปลี่ยนคนดูแล ต้องระวังถ้าผู้ดูแลป่วยจะติดผู้สูงอายุ หรือ ทำให้ผู้สูงอายุไม่มีผู้ดูแล

3.2 ดูแลที่สถานดูแลผู้สูงอายุ
– จะต้องมีการคัดกรองผู้มาเยี่ยม คัดกรองบุคลากร และเฝ้าระวังอาการผู้สูงอายุ หากสงสัยติดเชื้อ ต้องแยกห้อง แยกของใช้และปรึกษาแพทย์ทันที

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุติดเชื้ออาจมีอาการที่ไม่ตรงไปตรงมา อาจไม่มีไข้ ตัวไม่ร้อน ไอไม่ชัด บอกไม่ได้ว่าเจ็บคอ ควรสังเกตอาการว่า หายใจเร็วหรืออ่อนเพลีย เบื่ออาหารหรือรับอาหารทางสายยางไม่ได้ ซึมสับสนเฉียบพลัน ความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองลดลงอย่างรวดเร็ว ถ้ามีอาการเหล่านี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลดูแลประจำทันที หรือ 1668 สายด่วนกรมการแพทย์, 1669 สายด่วนศูนย์นเรนทร