ไขข้อข้องใจ เม.ย.-พ.ค. ค่าไฟแพงทุกปี อย่างกับเดจาวู?

ทำไมค่าไฟเดือน เม.ย.-พ.ค. สูงปรี๊ดดดด ทั้งที่ใช้ไฟเท่าเดิม เป็นแบบนี้ทุกปีหรือเปล่า?

ลมแทบจับ!! เมื่อได้เห็นบิลค่าไฟช่วงเดือน เมษายน พฤษภาคม โอ้โห ค่าไฟแพงขึ้นเท่าตัว เห็นเม็ดเงินที่ต้องจ่ายแล้ว อยากจะรีบวิ่งไปปิดแอร์ให้ไว ซึ่งบางคนก็อาจจะสงสัยว่าทำไมพอเข้าช่วงเมษายน พฤษภาคม ค่าไฟกลับพุ่งทะยานกว่าเดือนอื่นๆ ทั้งที่ก็รู้สึกว่าใช้ไฟเท่าเดิม?

ภาพจากอีจัน
และแน่นอนว่า ขณะนี้โซเชียลออนไลน์ต่างแสดงความคิดเห็นกันกระหน่ำเกี่ยวกับเรื่องค่าไฟแพง ทุกคนบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าค่าไฟที่เพิ่มเข้ามาเป็นจำนวนมาก บางคน จาก 1,800 บาทเป็น 6,000 บาท บางคนจาก 500 มาเป็น 1,700 บาท

ซึ่งเรื่องนี้บางคนก็มองว่า อาจเป็นเพราะด้วยอากาศที่ร้อน จึงทำให้การให้ใช้ไฟนั้นเพิ่มขึ้นกว่าเดิมโดยที่ไม่รู้ตัวหรือเปล่า?
ทีนี้เราลองมาดูกันว่า ค่าไฟพุ่งแรงเฉพาะแค่หน้าร้อนจริงไหม?

ย้อนกลับไปปี 2562 ก็มีข่าวที่ประชาชนออกมาแสดงความเห็นถึงเรื่องค่าไฟแพง โดยระบุว่า บิลค่าไฟฟ้าพุ่งสูงถึงหลักหมื่น ซึ่งเจ้าตัวมองว่าแพงเกินไปทั้งที่อยู่บ้านคนเดียว และปกติแล้วจ่ายอยู่ที่ประมาณ 6 พันบาท

ขณะที่อีกราย ออกมาโพสต์ภาพใบเสร็จเรียกเก็บค่าไฟฟ้า ที่เพิ่มขึ้นจากทุกๆ เดือนมากว่า 4 พันบาท ซึ่งเจ้าตัวเผยว่า บ้านเป็นตึก 3 ชั้น และเปิดเป็นร้านอาหาร ค่าไฟปกติก็จะอยู่ประมาณ 14,000-15,000 เเต่เดือนพฤษภาคม ค่าไฟกลับพุ่งสูงมากถึง 18,000 บาท

และเมื่อย้อนกลับไปดูปี 2560 ก็พบว่า มีผู้เข้ามาตั้งกระทู้แสดงความสงสัยเช่นกันว่า เหตุใดเดือนเมษายน ค่าไฟที่บ้านถึงแพงเท่าตัว ทั้งที่บ้านอยู่คนเดียว กลางวันส่วนใหญ่ออกไปข้างนอก กลางคืนเปิดแอร์นอนทุกคืน ซึ่งเปิดทั้งคืนเป็นเรื่องปกติ

ซึ่งเรื่องนี้ก็มีผู้เข้ามาแสดงความเห็นไปในทางเดียวกันว่า เป็นเรื่องปกติของเดือนเมษายนที่ค่าไฟจะเพิ่มขึ้น แต่พอกลับเข้าเดือนที่อยู่ในช่วงหน้าฝน ค่าไฟก็จะค่อยๆ ลดลงมา

เอาล่ะ!! จากที่ดูแล้วปี 2560 กับ 2562 จะเห็นว่าช่วงเดือนเมษายน-เดือนพฤษภาคม ค่าไฟค่อนข้างแรงพอตัว ทีนี้เราก็มาไขคำตอบกันดีกว่าว่าที่ค่าไฟขึ้นช่วงนี้เนี่ย มันเดจาวู หรือเป็นปกติ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่จะต้องเกิดขึ้นทุกปี?

ทุกๆ ปี ในช่วงเดือนเมษายน ร้อนมหาโหด ค่าไฟเกือบทุกบ้านแพงขึ้น และยิ่งวิกฤตโควิด มีการทำงานจากที่บ้าน ก็ยิ่งทำให้ค่าไฟยิ่งแพงขึ้น เพราะเปิดทั้งไฟ เปิดทั้งแอร์ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟแพงก็เป็นไปได้

จากดราม่าค่าไฟแพง การไฟฟ้า ก็ได้มาอธิบายถึงสาเหตุที่ค่าไฟในหน้าร้อน มักจะสูงกว่าปกติว่า ค่าไฟคิดในอัตราก้าวหน้า ยิ่งใช้ไฟเยอะ ราคาต่อหน่วยยิ่งสูง และยิ่งทำให้ค่าไฟยิ่งสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ และจะสูงแบบก้าวกระโดด เช่น หากใช้ 23 หน่วย ราคาต่อหน่วยจะคิดที่หน่วยละ 3.01 บาท ทำให้ค่าไฟอยู่ที่เพียง 69.18 บาท แต่หากใช้ไฟถึง 106 หน่วย จะถูกคิดที่หน่วยละ 3.74 บาท ทำให้ค่าไฟอยู่ที่ 396.17 บาท และหากใช้ไฟถึง 370 หน่วย จะถูกคิดที่หน่วยละ 3.74 บาท 4.08 บาท ทำให้ค่าไฟอยู่ที่ 1,510 บาท

คิดง่ายๆ คือ ถ้าเราเปิดแอร์ เวลาเดิมทุกวัน 8.00 – 12.00 น. เย็นเท่าเดิมจริง แต่ตัวที่ทำให้มิเตอร์ขึ้นหน่วยไวแค่ไหน อยู่ที่คอมเพลสเซอร์ข้างนอก ถ้าอากาศข้างนอกร้อนแค่ไหน หน่วยการใช้ไฟก็ขึ้นไวเท่านั้นเพราะคอมเพลสเซอร์ทำงานหนัก

ภาพจากอีจัน
ส่วนตู้เย็น ก็กินไฟนะ ถ้าเปิดตู้เย็นบ่อย ๆ เปลืองไฟ เพราะตู้เย็นสูญเสียอุณภูมิตอนเปิด หรือถ้าแช่ของแบบยัด ๆ เข้าไปก็เปลืองไฟเช่นกัน

อธิบายง่ายๆ ก็คือ ค่าไฟแพงช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ไม่ใช่เดจาวู แต่เป็นเหตุการณ์ที่จะเวียนบรรจบมาหาเราทุกๆ ปี เพราะปกติแล้วในฤดูร้อน อุณหภูมิข้างนอกสูงขึ้น นั่นทำให้เครื่องทำความเย็น ทั้งแอร์หรือตู้เย็นไม่ตัดไฟ และทำงานนานขึ้น แตกต่างจากฤดูอื่น จึงทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น นั่นเอง