แพทย์ศิริราชฯ ชี้ แนวโน้มโควิดในไทยดีขึ้น แนะ ค่อยๆ ผ่อนมาตรการ

แพทย์ศิริราชฯ คาดการณ์โควิด-19 ในไทย ชี้ แนวโน้มดีขึ้น แนะ รอดูสถานการณ์ให้นิ่งจริงๆ ค่อยผ่อนมาตรการ หวั่น ผู้ติดเชื้อพุ่งอีกรอบ

เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้คาดการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่าจะมีแนวโน้มการแพร่ระบาดไปในทิศทางไหน โดยอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มาเทียบกับข้อมูลสถานการณ์ต่างประเทศโดยองค์การอนามัยโลก

ภาพจากอีจัน

เริ่มจากวันที่ไทยพบผู้ติดเชื้อครบ 1,000 ราย หลังจากนั้น 19 วัน ก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมาแตะ 2,613 ราย ถือเป็นการเพิ่มอย่างช้าๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน

ภาพจากอีจัน

เมื่อย้อนกลับไปดูกราฟวันที่ 6 เมษายน 2563 ซึ่งเป็นวันแรกที่ยอดผู้ป่วยจาก 100 ลดลงมาแตะตัวเลข 50 แล้วอยู่ๆ วันที่ 8 เมษายน 2563 ก็มีตัวเลขผู้ป่วย 111 รายขึ้นมา แต่หลังจากที่มีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดตัวเลขผู้ติดเชื้อก็กลับเข้ามาอยู่ที่เลข 50 และดีขึ้นเรื่อยๆ จนวันนี้ (16 เมษายน 2563)

ภาพจากอีจัน

ทั้งนี้ จากมาตรการเข้มต่างๆ ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ทำให้จำนวนผู้ป่วยชะลอลง กราฟโดยรวมที่แสดงถึงสถานการณ์ผู้ป่วยใหม่จึงค่อนข้างดี มีแนวโน้มลดลง สวนทางกับประเทศต่างๆ ที่เส้นกราฟยังคงพุ่งสูงขึ้น สถานการณ์จะดีขึ้นเรื่อยๆ หากทุกอย่างเป็นไปตาม “ยุทธศาสตร์ต้นน้ำปลายน้ำ”

ยุทธศาสตร์ต้นน้ำ คือ การลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ จะต้องพึ่งความร่วมมือของคนไทยทั้งประเทศ ให้อยู่บ้าน รักษาระยะห่าง ใส่หน้ากาก ล้างมือ ที่สำคัญที่สุด คือ จิตสำนึก ความรับผิดชอบ และวินัย ที่ต้องมาก่อนมาตรการต่างๆ เพราะถึงแม้จะมีมาตรการเข้มแค่ไหน ถ้าประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ ก็เปล่าประโยชน์

ส่วนยุทธศาสตร์ปลายน้ำ คือ การลดอัตราการเสียชีวิต เพิ่มอัตราการกลับบ้าน เพราะฉะนั้น การรักษาจะเป็นไปอย่างคล่องตัวได้ ก็ต้องอาศัยให้ ยุทธศาสตร์ต้นน้ำให้สัมพันธ์ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ภาพจากอีจัน

นายแพทย์ประสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้สถานการณ์จะดีขึ้น แต่อย่าเพิ่งวางใจ และยกเลิกการผ่อนปรนทุกอย่างให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ควรติดตามอัตราการพบผู้ป่วยใหม่ อัตราการเสียชีวิต และอัตรากลับบ้าน จนครบ 14 วัน หรือประมาณวันที่ 22 เมษายน 2563 จึงค่อยปรับมาตรการ ซึ่งส่วนตัวคิดว่า หากจะผ่อนปรน ก็ควรผ่อนบางอย่าง เอาเฉพาะกิจกรรมที่จำเป็นเท่านั้น และปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะหากผ่อนทันทีที่สถานการณ์ดีขึ้น ผู้ป่วยใหม่อาจกลับมาพุ่งสูงอีกครั้ง เหมือน ญี่ปุ่น และ สิงคโปร์

ภาพจากอีจัน