หมอยง เผยเหตุผล ทำไมคนหายป่วยโควิด-19 แล้วผลตรวจเป็นบวก

หมอยง เผย ทำไมผลตรวจคนหายโควิด-19 แล้วเป็นบวกได้ ชี้ ถ้าคนไข้ดีปกติทุกอย่าง ก็พอใจมากกว่ากระดาษจะเป็นบวกหรือลบ

วันที่ 16 เมษายน 2563 นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊กระบุว่า

“โควิด-19 เรารักษาคนไข้ ไม่ใช่รักษากระดาษ
การตรวจพบเชื้ออยู่นาน หรือในรายที่เป็นลบแล้วตรวจพบใหม่อีก ดังที่เป็นข่าว บางรายตรวจพบเชื้ออยู่ได้นานหลายสัปดาห์ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การตรวจเชื้อในปัจจุบันนี้ จะตรวจหาพันธุกรรมของไวรัสหรือ RNA ของไวรัสด้วยวิธี real-time RT PCR วิธีการดังกล่าวมีความไวสูงมาก เช่น มีไวรัสเพียง 10 – 100 ตัวก็ตรวจพบได้เพราะการตรวจเป็นการขยายพันธุกรรมขึ้นมาเป็น 2 ยกกำลัง 40 (2x2x2x2.. สี่สิบครั้ง หรือประมาณ 1 ล้านล้านตัว) เช่น ไวรัส 1 ตัวหรือ DNA 1 เส้น สามารถเพิ่มปริมาณไวรัส DNA ให้เป็น 2 ยกกำลัง 40 เส้น ก่อนทำการวัด (เราลองคำนวณดูว่ามีกี่เส้น)

ภาพจากอีจัน
ผู้ป่วยโควิด-19 ในระยะแรก ที่ได้ทำการตรวจมา จะพบว่ามีปริมาณไวรัสสูงมากจริงๆ จึงเป็นเหตุให้ทำไมโรคนี้ติดต่อกันง่ายมาก ในการเพิ่มจำนวนบางครั้งแค่ 10 รอบ (2 ยกกำลัง 10) เราก็ตรวจพบแล้ว แสดงว่ามีไวรัสต้นทุนอยู่มากแค่ยกกำลังนิดหน่อยก็ตรวจพบแล้ว

ถ้าได้ติดตามผู้ป่วยแม้จะเข้าอาทิตย์ที่ 2 หรืออาทิตย์ที่ 3 ถ้าปริมาณไวรัสลดลงเรื่อยๆจำนวนรอบหรือเพิ่มจำนวนก็จะสูงขึ้น เช่น ตรวจพบที่จำนวนรอบยกกำลังที่ 37 และ 38 หรือในเชิงปริมาณหมายความว่ามีไวรัสน้อยลงไปเรื่อยๆ (คงจะเข้าใจยากสักนิด นี่แหละทำไมต้องเรียนคณิตศาสตร์)

ถ้าผู้ป่วยเข้าสู่อาทิตย์ที่ 2 มีไวรัสน้อยกว่าอาทิตย์ที่ 1 หรือ ผู้ป่วยอาทิตย์ที่ 3 มีไวรัสน้อยกว่าอาทิตย์ที่ 2 และน้อยลงไปเรื่อยๆ ก็ถือเป็นภาวะปกติของผู้ป่วย

ผู้ป่วยที่ตรวจถึง 6 ครั้งแล้วยังตรวจพบอยู่ ถ้าเรียงลำดับพบว่าไวรัสน้อยลงไปเรื่อยๆ ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่อาจจะเป็นไปได้ ทำนองเดียวกันในบางครั้งการตรวจให้ผลลบแล้วเมื่อติดตามต่อไปเกิดได้ผลบวก เราก็คงจะต้องดูปริมาณไวรัสในทางอ้อม เช่นปริมาณไวรัสน้อยมากหรือใกล้ตกขอบที่จะเป็นบวก ก็ถือว่าเป็นเรื่องเป็นไปได้ เพราะการตัดสินใจว่าเป็นบวกหรือลบ เราถืออยู่ที่เส้นเส้นนึง และถ้าอยู่ใกล้เส้นที่จะเป็นบวกหรือลบ ก็คงไม่แปลก

ดังนั้น ในรายที่เป็นลบแล้วมาตรวจใหม่เป็นบวก ถ้าปริมาณไวรัสน้อยมากใกล้เส้นบวกลบ ก็ขอให้สบายใจ ไม่ใช่เรื่องที่ว่าผู้ป่วยไปติดมาใหม่เพราะการตรวจในห้องปฏิบัติการในระดับ DNA เป็นการตรวจที่ไวมาก เพียงเศษของ DNAไม่กี่เส้น เราสามารถขยายขึ้นมาให้ตรวจพบได้ และสิ่งที่สำคัญจะต้องรู้ว่าสารพันธุกรรมที่ตรวจพบนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ สามารถทำได้ด้วยการเพาะเชื้อว่าไวรัสยังสามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้หรือไม่บนเซลล์เพาะเลี้ยง

ดังนั้นการแปลผลแลปเราจะไม่แปลผลแลปครั้งเดียว เราคงต้องดูครั้งก่อนหน้านั้นมาประกอบด้วยโดยเฉพาะในเชิงกึ่งปริมาณ สามารถทำได้ในห้องปฏิบัติการ

หลังกลับบ้าน คนไข้ต้องเก็บตัวที่รัฐจัดให้ หรือที่บ้านอย่างเคร่งครัดอีกอย่างน้อย 14 วัน ไม่ให้เชื้อที่อาจหลงเหลือแพร่กระจายได้ การดูแลรักษาผู้ป่วยเราไม่ได้รักษากระดาษที่บอกผลมาว่าเป็น บวก หรือ ลบ เรารักษาคนไข้ ถ้าคนไข้ดีปกติทุกอย่าง เราก็พอใจมากกว่ากระดาษจะเป็นบวกหรือลบ”

ภาพจากอีจัน