สธ.ย้ำ หลักเกณฑ์ ตรวจ-รักษาโควิด ฟรีทุก รพ.รัฐฯ – เอกชน เริ่ม 5 มี.ค. 63 เป็นต้นมา

กระทรวงสาธารณสุข ประกาศหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ให้รักษาพยาบาลฟรีทุกโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน เริ่ม 5 มี.ค. 63 เป็นต้นไป

วันนี้ (12 เม.ย. 63) กระทรวงสาธารณสุข ประกาศ หลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ให้เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินได้รักษาพยาบาลฟรีจากทั้งโรงพยาบาลรัฐฯ และ เอกชน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 5 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป

โดยนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 ในการเข้ารับการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลของรัฐ หรือเอกชน ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ และเป็นธรรม โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ฉบับนี้ ได้กำหนดให้สถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน (โรงพยาบาล) ทุกแห่ง จะต้องให้การรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน แก่ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จนพ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพ และขีดความสามารถของสถานพยาบาล และหากจะต้องส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาพยาบาลยังสถานพยาบาลอื่น ต้องจัดการให้มีการจัดส่งต่อตามความเหมาะสม โดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

แต่ให้สถานพยาบาลดำเนินการรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ไปที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตามแนวทางการเรียกเก็บที่ สปสช.กำหนดแทน โดยให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2563 เป็นต้นไป โดยมาตรการนี้ ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลแต่อย่างใด เว้นแต่ กรณีที่สถานพยาบาลจะต้องส่งต่อผู้ป่วยไปรับการดูแลรักษายังเครือข่ายสถานพยาบาลที่จัดไว้ แต่ตัวผู้ป่วยหรือญาติฯ “ปฏิเสธ” ไม่ขอให้ส่งต่อหรือประสงค์จะไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลอื่น ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง

ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า สำหรับระยะเวลาที่สถานพยาบาลจะได้รับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยนั้น จะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 45 วัน เริ่มตั้งแต่ สปสช.ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร สรุปค่าใช้จ่าย และแจ้งให้กองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วย 3 กองทุน ได้แก่
1.กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
2.กองทุนรักษาพยาบาลประกันสังคม
3.กองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการทราบภายใน 30 วันนับตั้งแต่เวลาที่ได้รับเอกสารครบถ้วน

หลังจากนั้น กองทุนจะดำเนินการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในอัตราตามบัญชี และอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขฯ ซึ่งมีการกำหนดรายละเอียดค่าบริการ ทั้งสิ้น 597 รายการ ให้แก่สถานพยาบาลภายใน 15 วัน

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยหรือญาติฯ พบโรงพยาบาลเอกชนในเขตกรุงเทพฯ เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรม สบส. หมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7057 หรือที่สายด่วน 1667 ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินโควิด-19 กรม สบส.แต่หากอยู่ในต่างจังหวัด ให้แจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่