อัยการสูงสุดฟ้องผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวแล้ว กว่า 4,138 คดี

สำนักงานอัยการสูงสุด แถลงผลการดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ฟ้องคดีแล้วกว่า 4,138 คดี

วันนี้ (10 เม.ย. 63) สำนักงานอัยการสูงสุด แถลงผลคืบหน้าการดำเนินคดีและมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายกรณีฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนี้

ภาพจากอีจัน

1. ภาพรวมการดำเนินคดี
การดำเนินคดีของพนักงานอัยการทั่วประเทศ จากการรวบรวมข้อมูลคดีที่พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้กระทำการฝ่าฝืน พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ช่วงระหว่างวันที่ 3-9 เม.ย. 2563 โดยได้รายงานผลผ่านสารบบคดีอิเล็กทรอนิกส์ โดย นายรัชต์เทพ ดีประหลาด ผอ.สำนักงานบริหารกิจการสำนักงานอัยการสูงสุด และ นางณฐนน แก้วกระจ่าง ผอ.สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำนักงานอัยการสูงสุด ได้รวบรวมข้อมูลสิ้นสุด ณ วันที่ 10 เม.ย. 2563 เวลา 09.00 น ปรากฏจำนวนคดีและผู้กระทำความผิด ดังนี้

– คดีที่ฟ้องทั้งหมดจำนวน 4,138 คดี
– จำนวนผู้ต้องหา 5,264 คน (ชาย 4,054 คน) (หญิง 1,210 คน)
ช่วงอายุที่มีการฝ่าฝืน อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 91 คน , อายุตั้งแต่ 18-20 ปี จำนวน 470 คน , อายุกว่า 20-35 ปี จำนวน 2,537 คน , อายุกว่า 35-55 ปี จำนวน 1,764 คน , อายุกว่า 55 ปีขึ้นไป จำนวน 402 คน
– ข้อหาที่ฝ่าฝืนมากที่สุดคือ การออกนอกเคหสถาน

2. สำนักงานอัยการสูงสุดและกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม หารือแนวทางปฏิบัติในการใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาชั้นก่อนฟ้องสำหรับคดีที่เด็กและเยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้องในคดี ที่มีผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อหาแนวทางบูรณาการในการปฏิบัติของทั้งสองหน่วยงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ

3. การบังคับใช้มาตรการวิธีการ เพื่อความปลอดภัยของพนักงานอัยการทั่วประเทศ
สำหรับคดีที่มีการฝ่าฝืน พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากพนักงานอัยการจะต้องดำเนินคดีโดยรวดเร็ว เฉียบขาด และขอให้ศาลลงโทษสถานหนักแล้ว นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ยังได้สั่งการในหนังสือที่ อส 0001/ว 140 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2563 ข้อ 5 ให้พนักงานอัยการทั่วประเทศที่ฟ้องคดี ให้มีคำขอต่อศาลบังคับใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัย การดำเนินคดีที่ผ่านมาพนักงานอัยการได้มีคำขอท้ายฟ้องและศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลย พร้อมกับให้ใช้มาตรการวิธีการเพื่อความปลอดภัยด้วย เช่น ศาลจังหวัดพะเยา ศาลจังหวัดน่าน (สาขาปัว) นอกจากลงโทษ จำคุกและรอการลงโทษจำคุกไว้แต่ให้ปรับจำเลยพร้อมกับมีคำสั่งมีให้กักกันจำเลยไว้ในเคหสถานมีกำหนด 7 วัน เป็นต้น กรณีดังกล่าวผู้ที่ถูกศาลพิพากษาให้ใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยข้างต้นต้องปฏิบัติ หากฝ่าฝืนคำสั่งศาลจะมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 196 ลงโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับอีกด้วย

4. ความคืบหน้าคดีจับกุมบ่อนพนันรายใหญ่ในจังหวัดนนทบุรี
เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 อัยการจังหวัดคดีศาลแขวงนนทบุรี ได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวน สภ.นนทบุรี จำนวนผู้ต้องหาทั้งสิ้น 122 คน พนักงานอัยการสำนักงานคดีศาลแขวงนนทบุรีได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดต่อศาลไปในวันเดียวกันโดยบรรยายขอให้ศาลลงโทษสถานหนักปรากฏว่าจำเลยทุกคนให้การรับสารภาพ ศาลมีคำพิพากษาในวันเดียวกันโดยจำคุกเจ้าบ้าน 6 เดือน 15 วัน ผู้จัดให้มีการเล่นจำคุก 3 เดือน 15 วัน และผู้เล่นการพนัน (จำนวน 79 คน) ให้กักขัง 15 วัน ปรับ 1,000 บาท โดยศาลไม่รอการลงโทษ เฉพาะผู้เล่น

โดย นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ได้ฝากข้อห่วงใยผ่านสื่อมวลชนว่า ที่สำนักงานอัยการสูงสุดและพนักงานอัยการ จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายและมาตรการต่าง ๆ อย่างเข้มงวด ก็เพราะจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค อันจะเป็นการป้องกันให้กับทุกคน ครอบครัว สังคม และประเทศชาติให้ปลอดภัย และหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้รวดเร็วที่สุด

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน