เนเธอเเลนด์ส่งคืนเเมสจีน เหตุผลิตไม่ได้มาตรฐาน?

จีนพ้อขณะที่กำลังเร่งผลิตแมสให้ทันความต้องการของทั่วโลกกับถูกเข้าใจผิด หลังเนเธอเเลนด์ส่งแมสคืน อ้างไม่ได้มาตรฐาน?

ไขข้อเท็จจริง: หน้ากากอนามัย ‘เมด อิน ไชน่า’ คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานจริงหรือ?

วานนี้ (7 เม.ย.2563) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ขณะที่ผู้ผลิตจีนจำนวนมากกำลังเร่งทำงานตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อผลิตวัสดุทางการแพทย์ให้ทันต่อความต้องการด้านการรับมือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ซึ่งกำลังเพิ่มสูงขึ้นในทั่วโลก บางฝ่ายในประเทศตะวันตกกลับยุ่งอยู่กับการสร้างความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในจีน

ภาพจากอีจัน

ไม่นานมานี้ สื่อในเนเธอร์แลนด์รายงานว่ากระทรวงสาธารณสุขเนเธอร์แลนด์เรียกคืนหน้ากากอนามัยที่ซื้อมาจากจีนสืบเนื่องจาก “ปัญหาด้านคุณภาพ” โดยอ้างว่าหน้ากากชุดนั้น “ไม่เหมาะสำหรับเจ้าหน้าที่การแพทย์ในห้องไอซียู”

กระทรวงการต่างประเทศจีนจึงออกมาชี้แจงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่าจากการสืบสวนเบื้องต้น หน้ากากเหล่านั้นมีไว้ใช้สำหรับงานที่ไม่ใช่ด้านการแพทย์ (non-medical masks) เท่านั้น และบริษัทจีนได้แจ้งฝ่ายเนเธอร์แลนด์แล้วก่อนจัดส่ง
หน้ากากอนามัยแต่ละประเภทมีระดับการป้องกันแตกต่างกัน

ฮว่าชุนอิ๋ง โฆษกกระทรวงฯ เตือนทุกฝ่ายให้ “ตรวจสอบคำแนะนำด้านการใช้งานอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่พวกเขาซื้อมานั้น จะตอบโจทย์จุดประสงค์การใช้งาน และหลีกเลี่ยงการรีบร้อนจนสร้างความเข้าใจผิด”

ภาพจากอีจัน
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มี.ค. กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีน เปิดเผยว่านับตั้งแต่โรคโควิด-19 เริ่มระบาด ปริมาณการผลิตหน้ากากอนามัยของจีนพุ่งสูงขึ้นเป็น 100 ล้านชิ้นต่อวัน โดยหน้ากากอนามัยทางการแพทย์เอ็น 95 (N95) แตะที่ 1.6 ล้านชิ้นต่อวัน

จินไห่ เจ้าหน้าที่สำนักงานศุลกากรจีนแถลงข่าวเมื่อวันที่ (5 เม.ย.63) ระบุว่าปริมาณการส่งออกเวชภัณฑ์ของจีนอยู่ที่ 1.02 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 4.73 หมื่นล้านบาท) ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.จนถึงวันเสาร์ที่ผ่านมา (4 เม.ย.) ซึ่งรวมถึงหน้ากากอนามัย 3.86 พันล้านชิ้น ตัวเลขเหล่านี้ไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของจีนในการช่วยชีวิตและเคียงบ่าเคียงไหล่ต่อสู้กับการระบาดใหญ่ร่วมกับประเทศอื่นๆ แต่ยังแสดงถึงความไว้วางใจที่ทั่วโลกมีต่อผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ซึ่งได้มาตรฐานของจีน

ภาพจากอีจัน
เช่นเดียวกับ หวังอี้ รัฐมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวระหว่างการสนทนาทางโทรศัพท์กับไฮโค มาส (Heiko Maas) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนี ว่าทุกฝ่ายควรมองสถานการณ์ตามความเป็นจริง และแก้ปัญหาความแตกต่างระหว่างกันในกระบวนการจัดซื้อผลิตภัณฑ์ ผ่านการหารือกันอย่างเท่าเทียม ทั้งนี้ หวังเสริมว่า “การตีตราหรือลดคุณค่าผลิตภัณฑ์ใดๆ ล้วนไม่เป็นประโยชน์ต่อความร่วมมือในการสกัดกั้นโรคระบาด”