รองนายกฯ เตรียมเสนอ ครม. ทุ่มเงิน 1.68 ล้านล้านบาท เยียวยาเศรษฐกิจระยะที่ 3

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เตรียมเสนอ ครม. ทุ่มงบ 1.68 ล้านล้านบาท เยียวยาเศรษฐกิจระยะที่ 3 ครอบคลุมทุกมิติเศรษฐกิจ ในช่วงวิกฤติโควิด-19

วันนี้ (6 เม.ย. 63) ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จะเสนอ ครม.อนุมัติมาตรการเยียวยาเศรฐกิจระยะที่ 3 วงเงิน 1.68 ล้านล้านบาท โดยคิดเป็น 10% ของจีดีพี ในปี 62 ซึ่งจะครอบคลุมทุกมิติเศรษฐกิจสังคม เป็นเวลา 6 เดือน โดยแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมครั้งนี้ ต้องใช้ถึงสามหน่วยงานในการทำงานร่วมกัน คือ

กระทรวงการคลัง (มาตรการทางการคลัง)
ธนาคารแห่งประเทศไทย (มาตรการทางการเงิน)
และ ก.ล.ต. (มาตรการทางตลาดทุน)

เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่หยุดชะงักไปหลายเดือน จากการปิดเมือง เคอร์ฟิว เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้ประเทศฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง

ภาพจากอีจัน

โดย ดร.สมคิด เปิดเผยว่า มาตรการครั้งนี้จะคล้ายแผน กอบกู้เศรษฐกิจ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ ของ สภาคองเกรสสหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือประชาชน และธุรกิจให้ครบทุกกลุ่ม ไม่ใช่แจกเงินคนตกงานอย่างเดียว ซึ่งมาตรการเยียวยา 1.68 ล้านล้านบาท จะดูแลเศรษฐกิจ 3 กลุ่ม
– กลุ่มที่ 1 เยียวยาประชาชนและธุรกิจ
– กลุ่มที่ 2 ดูแลให้มีกิจกรรมเศรฐกิจในช่วงที่ทุกอย่างติดขัดเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจหยุดชะงักในช่วง 3-4 เดือนนี้
– กลุ่มที่ 3 ดูแลภาคเศรษฐกิจการเงินเพราะปัญหาในภาคเศรษฐกิจจริง เกี่ยวข้องไปถึงเศรษฐกิจการเงิน

ทั้งนี้ แบงก์ชาติจะร่วมกับ กลต. พิจารณากลไกดูแลตลาดตราสารหนี้ ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก 3.5 ล้านล้านบาท ครอบคลุมประชาชน และองค์กรที่ลงทุน เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์กองทุนบำเหน็จ บำนาญ ข้าราชการกองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและธุรกิจ เพื่อสร้างหลักพิงให้กับตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ให้เดินต่อไปได้ โดยแบงก์ชาติจะเข้าไปซื้อตราสารหนี้ ที่มีคุณภาพดีที่ครบกำหนด เพื่อให้มีเงินไปชำระหนี้ที่ครบกำหนด

ภาพจากอีจัน

ส่วนผู้ฝากเงิน ก็ไม่ต้องเป็นห่วง แบงก์ชาติ จะขยายวงเงินคุ้มครองเงินฝาก 5 ล้านบาท ไปถึงเดือนสิงหาคม 2564 เพื่อลดความกังวลของประชาชนวิกฤติเศรษฐกิจสังคม จากโรคโควิด- 19 ครั้งนี้