ม้าตายเฉียบพลันเพราะกาฬโรคม้าระบาด ไม่ใช่ข่าวลอม!

ผอ.ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม แถลงเสียใจกับการแพร่ข้อมูล เรื่องกาฬโรคม้าเป็นข่าวปลอม เผย สื่อสารกับกรมปศุสัตว์คลาดเคลื่อน

วันนี้ (5 เม.ย. 63) กระทรวงดิจิทัลฯ แจงข้อเท็จจริง กรณีเผยแพร่เรื่อง พบโรคอุบัติใหม่ในไทย "กาฬโรคม้า" ทำม้าตายเฉียบพลัน ทางกรมปศุสัตว์ได้ชี้แจงว่าหลังจากตรวจสอบพบว่า “กาฬโรคม้า” เป็นโรคอุบัติใหม่ และก่อนหน้านี้ไม่เคยมีรายงานการเกิดโรคนี้ในประเทศไทย โดยพบรายงานการเกิดโรคนี้ในทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง ประเทศอียิปต์ สเปน โปรตุเกส โมร็อกโค ปากีสถาน และอินเดีย เป็นส่วนใหญ่

ภาพจากอีจัน
ผศ.(พิเศษ) นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวง ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ชี้แจงประเด็นที่มีการเผยแพร่ข่าวสารเรื่อง พบโรคอุบัติใหม่ในไทย "กาฬโรคม้า" ทำม้าตายเฉียบพลัน เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 ซึ่งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ได้มีการเผยแพร่ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอมนั้น ว่าเกิดจากการตีความคลาดเคลื่อนจากข้อความที่ได้รับจากกรมปศุสัตว์ โดยทางศูนย์ฯ รู้สึกเสียใจกับข้อมูลที่ได้เผยแพร่ออกไป
ภาพจากอีจัน
ผศ.(พิเศษ) นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวง ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เปิดเผยว่า เนื่องด้วยศูนย์ฯ ได้รับแจ้งเบาะแสข่าวจากประชาชน ในประเด็นที่มีการเผยแพร่บนโลกออนไลน์มีเนื้อความระบุว่า “เผยผลตรวจม้าหัวหินตายเฉียบพลัน จากการลงพื้นที่สอบสวนเบื้องต้นและเก็บตัวอย่างมาตรวจ พบว่าเป็นการเสียชีวิตจากโรคกาฬโรคม้า” และในวันที่ 2 เมษายน 2563 เวลา 16.38 น. ทางศูนย์ฯ ได้มีการประสานงานไปยังกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว และหลังจากได้รับข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ ในวันที่ 3 เมษายน 2563 เวลา 16.59 น. จึงได้ดำเนินการเผยแพร่ข้อเท็จจริงตามที่กรมปศุสัตว์ชี้แจง ตามช่องทางต่าง ๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม โดยมีการตีความคลาดเคลื่อนจากข้อความที่ได้รับจากกรมปศุสัตว์ว่าเป็นข่าวปลอม ซึ่งข้อเท็จจริงคือ “กาฬโรคม้า” นั้นเป็นโรคอุบัติใหม่และเพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
ภาพจากอีจัน
“ขอเน้นย้ำว่า ขอให้มีความเชื่อมั่นในกระบวนการตรวจสอบยืนยันข้อเท็จจริง โดยศูนย์ฯ ผู้ประสานงานกับเครือข่ายผู้ประสานข่าวปลอมของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข่าวนั้นๆ มีขั้นตอน และกระบวนการทำงานที่ต้องมีการดำเนินการให้มีความรวดเร็ว ตรวจสอบให้ได้รับรู้ถึงความถูกต้องและมีวิธีการบริหารจัดการข่าวปลอมให้ได้เร็วที่สุด โดยจะมีทีมงานติดตามและคัดกรองข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ มีคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่มีแนวโน้มเป็นข่าวปลอม ทีมงานดำเนินขั้นตอนการตอบโต้ข่าวสารปลอม และเผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้อง” ผศ.(พิเศษ) นพ.พลวรรธน์กล่าว
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ทั้งนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ยืนยันว่าได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดตามบทบาทและภารกิจ และข้อเท็จจริงที่เผยแพร่ไปนั้น ได้ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างถูกต้องตามกระบวนการจากหน่วยงานเครือข่ายที่เป็นผู้เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็น พร้อมทั้งขอแสดงความเสียใจกับความคลาดเคลื่อนครั้งนี้ และขอยืนยันว่า ทางศูนย์ฯ ให้ความสำคัญกับการดำเนินการด้วยความละเอียด รอบคอบ และคำนึงถึงมาตรฐานของกระบวนการตรวจสอบความจริง