สธ.ยืนยันเชื้อโควิด-19 ไม่แพร่ในอากาศแน่นอน

รองอธิบดีกรมควบคุมโรคยืนยัน เชื้อโควิด-19 ไม่แพร่ในอากาศ ชี้กรณีที่สหรัฐฯ เรียกว่าการระบาดเป็นกลุ่มก้อนโดยน้ำลาย ไม่ใช่การรับเชื้อที่ลอยตามอากาศ

จากกรณี นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก "หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC" โดยระบุว่า มีข้อมูลล่าสุดสนับสนุนว่าผู้ป่วยโควิด-19 ระยะฟักตัวสามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสทางอากาศ airborne transmission ไม่ต่างจากวัณโรค ขณะร้องเพลงร่วมกับผู้อื่น ตัวอย่างเช่นกรณี กลุ่มนักร้องประสานเสียงในโบสถ์แห่งหนึ่งที่รัฐวอชิงตัน ที่มีคนติดเชื้อจำนวนมาก

ภาพจากอีจัน
ล่าสุดวันนี้ (1 เม.ย. 2563) นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ชี้แจงประเด็นนี้ว่า สถานการณ์ที่สหรัฐอเมริกาไม่ได้บอกว่าเป็นการแพร่ระบาดทางอากาศ ซึ่งยืนยันว่าการเกิดในลักษณะนั้น เป็นการระบาดเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งไม่ใช่การแพร่เชื้อทางอากาศ โดยเป็นการแพร่ระบาดโดยละอองฝอยน้ำลาย ที่ได้รับจากผู้ป่วยที่เข้าไปสัมผัสหรือเข้าใกล้ในระยะประชิด

โดยรองอธิบดีฯย้ำว่า การติดเชื้อสามารถติดได้ 2ทางคือ การหายใจเอาเชื้อเข้าไปโดยตรง โดยการติดลักษณะนี้จะต้องเข้าไปอยู่ใกล้ผู้ป่วยพอสมควร ในระยะ 1 เมตร ที่ผู้ป่วยสามารถไอและมีน้ำลายกระเด็นออกมาได้
และกรณีที่ 2 ผู้ป่วยไอทิ้งเอาไว้ และเชื้ออยู่ตามสิ่งแวดล้อม ซึ่งกรณีนี้เชื้อสามารถอยู่ได้ค่อนข้างนาน อาจอยู่ได้ถึง 2 -3 วัน ซึ่งจุดนี้หากมีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อและล้างมือบ่อยๆ ก็สามารถหลีกเลี่ยงได้

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
แต่ทั้งหมดนี้เราสามารถป้องกันได้ด้วยการ ไม่ไปอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด และไม่อยู่ใกล้คนไอจาม และสุดท้ายการที่ผู้ป่วยใส่หน้ากากอนามัยสามารถช่วยลดการแพร่เชื้อได้มากถึง 97% เพราะฉะนั้นตัวผู้ป่วยสำคัญที่สุดเมื่อมีอาการไอจาม ต้องปิดปากปิดจมูกและใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง รวมถึงคนที่ยังไม่ติดเชื้อแต่จำเป็นต้องเข้าที่พื้นที่เสี่ยงก็ต้องใส่หน้ากากอนามัยป้องกันไว้ด้วย ก่อนที่รองอธิบดีฯจะยืนยันว่า การแพร่เชื้อดังกล่าวคือการแพร่เชื้อทางน้ำลายจากกลุ่มก้อนไม่ใช่การแพร่เชื้อทางอากาศแน่นอน