กรมควบคุมโรค เตือน ดื่มแอลกอฮอล์ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยการดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ผลข้างเคียงอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต

(1 เม.ย. 2563) นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เผยถึง กรณีที่มีการส่งต่อข้อมูลในสื่อออนไลน์ ที่มีคนไทยสาธิตการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อให้ช่วยฆ่าเชื้อในลำคอ และรายงานข่าวในต่างประเทศที่มีประชาชนดื่มแอลกอฮอล์บริสุทธิ์หรือเอทิลแอลกอฮอล์ จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและมีอาการสาหัสจำนวนหลายราย โดยทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ มีความเชื่อว่าจะช่วยฆ่าเชื้อโควิด–19 ได้ นั้น กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า

ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ เช่น เหล้า เบียร์ ซึ่งมีขั้นตอนผลิตมาจากพืชประเภทน้ำตาลและพืชจำพวกแป้ง สามารถรับประทานได้ แต่แอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มอาจเป็นสาเหตุเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ โดยเฉพาะผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีโอกาสรับเชื้อง่ายกว่าคนปกติ เพราะเมื่อดื่มเข้าสู่ร่างกาย แอลกอฮอล์จะเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานฆ่าเชื้อโรคในร่างกายได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้ติดเชื้อต่างๆ ได้ง่ายขึ้น รวมถึงการสังสรรค์ในกลุ่มเพื่อนหรือเที่ยวในสถานบันเทิงก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นไปอีก เพราะหากมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แค่หยิบจับภาชนะร่วมกันก็อาจติดเชื้อได้

ส่วนกรณีรายงานข่าวในต่างประเทศ เป็นการดื่มเอทิลแอลกอฮอล์ หรือเอทานอล (Ethyl Alcohol หรือ Ethanol) ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95% ใช้สำหรับทำความสะอาดฆ่าเชื้อ มีขั้นตอนผลิตมาจากพืชประเภทน้ำตาล และพืชจำพวกแป้ง เช่นเดียวกันกับแอลกอฮอล์ที่ผสมในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ไม่สามารถรับประทานเอทานอลล้างแผลได้ เพราะมีขั้นตอนการผลิตและสารเคมีต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แม้ว่าเอทานอลจะเป็นชนิดของแอลกอฮอล์ที่สามารถบริโภคได้ แต่ด้วยปริมาณความเข้มข้นแบบบริสุทธิ์ซึ่งสูงกว่าที่พบในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วไป ทำให้ผู้ดื่มมีภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ และในบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

ภาพจากอีจัน

ทั้งนี้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีค่าความเข้มข้นมากที่สุดเพียง 40% เท่านั้น หากดื่มเข้าไปปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายจะเจือจางลง และหากพยายามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนมีปริมาณแอลกอฮอล์เข้มข้นมากถึง 70% เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ 5% จำนวน 14 ขวด หรือมากกว่า นอกจากจะไม่ช่วยฆ่าเชื้อแล้ว การที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าร่างกายจะกลายเป็นการทำลายร่างกายแทน เพราะเซลล์ปกติในร่างกายจะถูกทำลายไปด้วย อาจทำให้กระเพาะอาหารเป็นแผล อาเจียนเป็นเลือด จนถึงขั้นเกิดอาการช็อกจากการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

นายแพทย์ขจรศักดิ์ กล่าวยืนยันว่า การดื่มเอทิลแอลกอฮอล์หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สามารถช่วยฆ่าเชื้อไวรัสโควิด–19 ได้ ควรลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อด้วยการล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำกับสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ หลังจากกลับจากข้างนอกถึงบ้าน ก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังจากไอหรือจาม หลังจากเข้าห้องน้ำ หลังจากสัมผัสกับสัตว์ ปิดปากเวลาไอจามด้วยข้อพับแขนด้านในหรือกระดาษทิชชู ทิ้งทิชชูที่ใช้แล้วลงถังขยะ และล้างมือทันที หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ที่เป็นไข้และมีอาการไอ จาม กินร้อน ช้อนกลาง(ส่วนตัว) และสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อไปที่ชุมชน สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค